ประเทศไทยมีเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เป็นสมาชิกของยูเนสโก (UNESCO GNLC) จำนวน 7 เมือง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย ฉะเชิงเทรา หาดใหญ่ และภูเก็ต ในประเทศออสเตรเลียมีเมืองสมาชิกของยูเนสโก 4 เมือง ได้แก่ Wyndham, Canning, Melton, และ Circular Head ประเทศไทยและประเทศออสเตรเลียถือว่าอยู่ในเขตเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้นการเชื่อมเส้นทางการเรียนรู้ผ่านเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City จึงมีความเป็นไปได้
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ Adult Learning Australia (ALA) และ Australian Learning Communities Network (ALCN) และ UNESCO Institute of Lifelong Learning จัดการเสวนารูปแบบ Webinar เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศไทย และ เมืองแห่งการเรียนรู้ประเทศออสเตรเลีย ในการเสวนาครั้งนี้ Mr.Raúl Valdés ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Coordinator of UNESCO Learning Cities เข้าร่วมด้วย ผลการการจัดเสวนาทำให้เห็นทิศทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาชุมชน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs 4, SDG 11, SDG 13 รวมถึงแนวโน้มของการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแกนนำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปี 2567 ยูเนสโกจะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ การเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการทำงานด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยให้มากขึ้น และการเชื่อมเส้นทางการเรียนรู้ระดับภูมิภาคให้เข้มแข็ง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยาขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ผ่าน City Unit ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเมืองจำนวน 4 เมือง คือ ลำพูน อุดรธานี ตรัง และ ยะลา