ท่ามกลางสถานะการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 192 ล้านคนและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 4.13 ล้านคน (ข้อมูลจาก Worldometer.info เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564) ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2557 มหาเศรษฐีบิลเกตส์ได้รับเชิญให้ไปพูดที่งานเวทีทอล์ค TED ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เชิญผู้มีชื่อเสียงไปพูดหรือแสดงไอเดียต่าง ๆ ให้ผู้คนทั่วโลกได้รับฟัง
ซึ่งในวันนั้นโลกของเรายังไม่รู้จักหายนะที่เกิดจากไวรัสที่ชื่อว่า COVID-19 และบิลเกตส์ได้ทำนายไว้ว่า “ถ้าจะมีสิ่งใดก็ตาม ที่จะทำลายชีวิตมนุษย์มากกว่า 10 ล้านคนภายในอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นการระบาดของเชื่อไวรัส โดยมันจะคร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าสงครามเสียอีก ซึ่งมันไม่ใช่จรวดมิสไซล์แต่เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก” สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนที่มาร่วมงานในวันนั้นเป็นอย่างมาก
เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่ามหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกที่สร้างฐานะและชื่อเสียงให้ตัวเองจากธุรกิจแวดวงไอทีหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเค้าคือเจ้าพ่อแห่งวงการไอทีระดับโลก กลับออกมาพูดถึงเรื่องการระบาดของไวรัส ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับตัวตนของผู้ชายคนนี้ที่เรารับทราบกันอยู่ตลอดเวลามาช้านาน และแน่นอนว่า มีหลายคนที่ไม่เชื่อและยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีไวรัสใด ๆ ในโลกนี้ที่จะสร้างความสูญเสียให้มนุษย์มากถึง 10 ล้านคนท่ามกลางความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน
ที่สามารถปกป้องชีวิตมนุษย์จากโรคระบาดได้ยาวนานมากกว่าหนึ่งศตวรรษหลังจากไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อปี 2461 โดยหลังจากวันนั้นในเดือนธันวาคม 2562 นับเป็นเวลาเพียง 5 ปี สิ่งที่บิลเกตส์พูดบนเวที TED ดังกล่าว ก็เป็นจริง เกิดการระบาดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า COVID-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งตรงกับที่บิลเกตส์ได้ทำนายเอาไว้ โดยโรคดังกล่าวมีการระบาดใหญ่และส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลกสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งชีวิต ทรัพย์สิน วิถีชีวิต ตลอดจนไปถึงเศรษฐกิจ อันประเมินค่าไม่ได้จนถึง ณ ปัจจุบัน
การทำนายของบิลเกตส์ของการเกิดโรคระบาดของเชื่อไวรัสเมื่อปี 2557 และ หายนะที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนจะมากกว่าโควิดถึง 10 เท่าเมื่อปี 2563 (ภาพจาก The MATTER และ workpointTODAY)
แต่ความเสียหายที่เกิดจากโรค COVID-19 นี้อาจจะดูเหมือนว่ามหาศาล แต่ผู้ชายที่ชื่อบิลเกตส์กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะยังมีปัญหาสำคัญที่มารอเปลี่ยนชีวิตเราอยู่อีกเรื่องหนึ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ได้เดินสายให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ เพื่อโปรโมตหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า “How to Avoid a Climate Disaster” ที่พูดถึงปัญหาสำคัญที่ยังรอการแก้ไขอยู่ ก็คือปัญหาโลกร้อน (Climate Change) และเขายังได้ระบุอีกว่าปัญหาโลกร้อนนี้จะสร้างความเสียหายให้กับโลกมนุษย์ของเรามากว่าเชื้อไวรัส COVID-19 เสียอีก ผู้คนจะล้มตายมากกว่าโรคระบาดถึง 10 เท่า และหายนะที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นสุดศตวรรษนี้!
จากคำกล่าวของบิลเกตส์นี้ ทำให้ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็น 2 ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ได้มีการจับมือร่วมจัดการวิกฤตโลกร้อนในวันที่ 18 เมษายน 2564 ที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ (ข้อมูลจากสำนักข่าวเอพี) และหากคำกล่าวของบิลล์เกตเป็นจริงเหมือนดังคำนายของการเกิดโรคระบาด COVID-19 เราอาจจะจำเป็นต้องมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ว่ามีการเตรียมการและรับมืออย่างไรต่อการเกิดผลกระทบอันใหญ่หลวงอันเนื่องมาจากสาเหตุสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น
หลาย ๆ หน่วยงานในประเทศไทยเริ่มมีการรณรงค์ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนในการนำเทรนด์เรื่องการรักษ์โลกและรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไปใช้ในหน่วยงานเพื่อช่วยลดหรือแบ่งเบาผลกระทบอันเกิดจากสภาวะโลกร้อนอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศไทย มหาวิทยาลัยพะเยาก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ตระหนักถึงภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน จึงได้ดำเนินการนโยบายมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้สนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายทั้งในและนอกจังหวัดพะเยา
และเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ทีม 7-UP (อ่านว่าเซเว่นยูพี) ตัวแทนของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งประกอบไปด้วย นายธนาธิป ชุมภูวัง และ นายณัฏฐชัย แซ่เติน สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมด้วย นายชุติพันธ์ เชี่ยวสุวรรณ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำเสนอหัวข้อ “ระบบตรวจวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศโดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งสำหรับดาวเทียมขนาดนาโน (3U)”
เข้าแข่งขันในการประกวดและออกแบบเพย์โหลดในการแข่งขันระดับประเทศที่มีชื่อว่า “1st Payload Design Competition” (SpaceFIGHT 2020) โดยงานดังกล่าวนั้นจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) และสถาบันเทคโนโลยีคิวชู ประเทศญี่ปุ่น โดยการจัดงานครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่สนใจในเทคโนโลยีอวกาศ เป็นไปตามนโยบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีทีมผู้เข้าแข่งขัน จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ กว่า 35 ทีม
เป้าหมายหลักของหัวข้อที่นำเสนอดังกล่าวนั้น เพื่อที่จะทำการวัดคุณภาพของชั้นบรรยากาศโอโซนและให้ทราบถึงระดับโอโซนในชั้นบรรยากาศที่เสียหายหรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนโดยอาศัยการทำงานของไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ทำการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต ไว้ 2 ตำแหน่ง ทั้งภาคพื้นโลกและบนสถานีอวกาศ
เพื่อวัดและเก็บค่าปริมาณของคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลตที่ดวงอาทิตย์แผ่รังสี มายังสถานีอวกาศและบนพื้นโลกของเรา โดยจะทำการวัดค่ารังสียูวีที่ได้จากการวัดรังสียูวีทั้ง 2 จุด มาประเมินสุขภาพของชั้นบรรยากาศโอโซนในแต่ละพื้นที่ที่มีสถานีฐานตั้งอยู่ ผ่านการส่งข้อมูลจากดาวเทียมมายังโลก เพื่อคำนวณหาระดับปริมาณโอโซนในชั้นบรรยากาศดังแสดงได้ดังรูปที่ 5
จากรูปที่ 5 เป็นภาพรวมของระบบที่ได้นำเสนอ เมื่อดวงอาทิตย์ฉายรังสียูวีเข้ามากระทบกับตัวเซ็นเซอร์ ตัวมันจะทำการวัดรังสียูวีโดยสามารถแบ่งระดับของรังสียูวีในชั้นบรรยากาศได้ออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ UVC: ช่วงความยาวคลื่น 100 - 280 นาโนเมตร, UVB: ช่วงความยาวคลื่น 280 – 315 นาโนเมตร, และ UVA: อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร ตามลำดับ
โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นการวัดรังสียูวีทั้งหมด 2 ชนิดด้วยกัน คือ รังสี UVA และ รังสี UVB ที่มาตกกระทบหน้าคอนแท็คของเซ็นเซอร์ และตัวเซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลไปยังไมโครคอนโทรเลอร์เพื่อขนส่งข้อมูลดังกล่าวมายังพื้นโลกผ่านตัวดาวเทียมมุ่งสู่สถานีพื้นโลกเข้าระบบคลาวด์ในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และนำค่ารังสียูวีมาเปรียบเทียบกับสถานีพื้นโลก โดยจะทำการแบ่งระดับสุขภาพของชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่ ดีมาก ดี ปานกลาง แย่ และแย่มาก ตามลำดับ ดังรูปที่ 6
การแข่งขัน 1st Payload Design Competition” (SpaceFIGHT 2020)
สมาชิกในทีม 7-UP ประกอบไปด้วย นายธนาธิป ชุมภูวัง, นายณัฏฐชัย แซ่เติน, และนายชุติพันธ์ เชี่ยวสุวรรณ (เรียงจากซ้ายไปขวา)
ภาพรวมของระบบที่นำเสนอโดยทีม 7-UP
ระดับค่าการวัดคุณภาพของชั้นโอโซนของระบบที่ถูกนำเสนอ
เพย์โหลดของระบบตรวจวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศที่ถูกออกแบบและสร้างโดยทีม 7-UP
โดยการนำเสนอระบบตรวจวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการที่จะทำให้มนุษย์เราสามารถทราบถึงคุณภาพชั้นโอโซนในแต่ละพื้นที่ได้สะดวก คำว่าสะดวกในที่นี้หมายถึง ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ไม่ยากโดยการนำเสนอข้อมูลผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ (Smart Devices) ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยหน้าจอที่นำเสนอแบ่งเป็นระดับสีของสุขภาพชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ก็สามารถที่จะทราบและเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการสร้างสถานีฐานนั้นก็ใช้งบประมาณที่ไม่สูงมาก (โดยเฉลี่ยแล้วสถานีฐาน 1 จุดใช้งบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท) รวมถึงตัวอุปกรณ์ในการสร้างนั้นก็สามารถหาได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกระจายเทคโนโลยีที่นำเสนอนี้ไปได้ในทุกพื้นที่บนโลกใบนี้
จากการนำเสนอระบบตรวจวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการในการจัดการแข่งขันฯ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) และสถาบันเทคโนโลยีคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ประกาศผลให้ทีม 7-UP นั้น
ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน “1st Payload Design Competition” (SpaceFIGHT 2020) และเป็นทีมเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเพย์โหลดที่ถูกออกแบบและสร้างไปติดตั้งที่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ The International Space Station (ISS) ผ่านทางองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA)
ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการทางด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่น โดยตัวเพย์โหลดจะถูกบรรจุลงไปในดาวเทียมโครงการ Thailand Space Consortium (TSC) โดยมีกำหนดการส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศในช่วง ตุลาคม พ.ศ. 2564 - มีนาคม 2565
จากบทสรุปการนำเสนอระบบตรวจวัดโอโซนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการที่จะช่วยให้มนุษย์ตระหนักถึงสภาวะโลกร้อน โดยการนำเสนอข้อมูลที่จะให้คนในพื้นที่แต่ละพื้นที่บนโลกใบนี้ทราบถึงสุขภาพของชั้นโอโซนในแต่ละพื้นที่ของตัวเองและช่วยกันลดพฤติกรรมการสร้างสภาวะเรือนกระจกอันจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายที่ไม่คาดคิดต่อโลกของเรา และนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติแบบสุดขั้วทั่วโลกอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน อีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนก็คือ การที่ธรรมชาติถูกคุกคามและทำลาย นำมาซึ่งโรคอุบัติใหม่ ส่วนหนึ่งก็จะมีบรรดาไวรัสต่าง ๆ ที่ออกมาอาละวาด ซึ่งก็อาจจะรวมถึงไวรัส COVID-19 ด้วย (อ้างอิงจากรายการ รอบโลก Daily วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดย กรุณา บัวคำศรี)
เนื้อหาโดย
ผศ. ดร. ธนา อุดมศรีไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา