พิธีอัญเชิญและมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแข่งขัน “BDI Hackathon AI"

พิธีอัญเชิญและมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแข่งขัน “BDI Hackathon AI"

             เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา จัดพิธีอัญเชิญและมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแข่งขัน “BDI Hackathon AI & Data Innovation for Smart Tourism” ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (Public Organization) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 มิถุนายน 2568
           โดยมี ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันฯ กลุ่มงานส่งเสริมธุรกิจและองค์ความรู้ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เป็นผู้อัญเชิญถ้วยรางวัลพระราชทานมาประดิษฐานในพิธี จากนั้นทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้ประกอบพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
        ภายหลังจากพิธีถวายสักการะ ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ทีมที่ได้รับรางวัลในกิจกรรมการแข่งขัน โดย ทีม Ruby-chan! Hai! Nani ga suki? ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้เข้ารับ ถ้วยรางวัลพระราชทานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของผู้เข้าร่วมแข่งขัน
           ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมวิศวะลูกพ่อหลุยส์ และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม anomaly ซึ่งทั้งสองทีมได้รับ ถ้วยรางวัล จาก ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ผู้แทนจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) การแข่งขันดังกล่าว ถือเป็นเวทีที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขา Big Data Analytics และปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นเครื่องมือในการพลิกโฉมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและสังคมไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างมั่นคง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแนวคิดที่สร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริง สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยพะเยา ในการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน มุ่งสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับประเทศและระดับสากล

   

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง   
ข้อมูล/ข่าว :    นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง   
เพิ่มข่าวโดย :   mayurate.sa@up.ac.th   
28/06/2568 21:57 น. (2 วันที่แล้ว)

สถิติการอ่านข่าวนี้
วันนี้: 11 ครั้ง | เมื่อวาน: 26 ครั้ง | เดือนนี้: 11 ครั้ง | ปีนี้: 185 ครั้ง | รวม: 185 ครั้ง