สารจากอธิการบดี
มหาวิทยาลัยพะเยากับการเติบโตบนพื้นที่กว่า 5,158 ไร่ ที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติอันสวยงามในจังหวัดพะเยา ด้วยความมุ่งมั่นและการผสานความร่วมมือในการทำงานของผู้บริหาร บุคลากร นิสิตและชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา
เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน (University to Create Wisdom for Sustainable Community Development with Innovations of International Standards)” ทำให้มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการพัฒนามาตามลำดับ และมีศักยภาพเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
(World Rankings) ตามเกณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2563 และดีขึ้นเป็นลำดับถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings 2024 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 12
ของประเทศไทย การจัดอันดับของ THE Impact Rankings 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศไทย นอกจากนี้ การจัดอันดับของ SCImago Institutions Rankings (SIR) 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10
ของประเทศไทย และการจัดอันดับของ UI Green Metric World University Rankings 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานชั้นนำระดับโลก
มหาวิทยาลัยพะเยา ตระหนักถึงการบริหารจัดการองค์กรในท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ มิติ ทั้งโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนลดลง
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตในสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ
การจัดการองค์กรจึงดำเนินควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วางทิศทางดำเนินการตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มีรูปแบบ และวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
เพื่อเตรียมกำลังคนและเสริมสร้างศักยภาพให้มีสมรรถนะ และทักษะแห่งอนาคต มุ่งสู่งานวิจัยและนวัตกรรมที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคม และชุมชน สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการ ศิลปะ
และวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย และพัฒนาการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม ยึดมั่นในการบริหารงานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส
และมีธรรมาภิบาลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม (Societal Well-Being) รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy)
จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอยู่สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในบริบทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่
(Area-Based and Community Engagement University) ของมหาวิทยาลัยพะเยา