คณะ ICT จัดการแข่งขัน “BDI Hackathon AI & Data Innovation for Smart Tourism” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

คณะ ICT จัดการแข่งขัน “BDI Hackathon AI & Data Innovation for Smart Tourism” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรมการประกวดแข่งขัน “BDI Hackathon AI & Data Innovation for Smart Tourism”ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (Public Organization) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 29 มิถุนายน 2568
             โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กลุ่มงานส่งเสริมธุรกิจและองค์ความรู้ กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานแข่งขัน พร้อมแนะนำสถาบันฯ จากนั้นทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานกล่าวเปิดการแข่งขัน “BDI Hackathon AI & Data Innovation for Smart Tourism” ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติกา กันทวงค์ หัวหน้าโครงการฯ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ เพื่อเป็นเวทีที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขา Big Data Analytics และปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นเครื่องมือในการพลิกโฉมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและสังคมไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างมั่นคง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแนวคิดที่สร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริง สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยพะเยาในการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน มุ่งสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืน และเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับประเทศและระดับสากล
             หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดการแข่งขัน เป็นการบรรยายพิเศษ จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โพธิ จ้าวไพศาล รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเมืองสีเขียวด้วยพลังแห่งข้อมูล” จากนั้นเป็นการพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สันติ พิทักษ์กิจนุกูร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “Urban Informatics: A Data-Driven Smart City Approach” นอกจากนี้ยังมีการเสวนา หัวข้อ “ปัญหาของเมือง” โดยคุณสันติ เหล่าพาณิชย์กุล กรรมการเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภราดร สุรีย์พร อาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงข้อมูล แหล่งข้อมูล และโจทย์สำหรับการแข่งขัน เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างโปร่งใส และให้ทุกทีมมีความเข้าใจตรงกัน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติกา กันทวงค์ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงการตัดสินและแนวทางการพิจารณาผลงาน การพิจารณาผลการแข่งขัน และเกณฑ์ในการแข่งขันทั้งหมด
             การแข่งขันดังกล่าวมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันจากทั่วประเทศ จำนวน 115 ทีม และผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 15 ทีม โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบจะต้องระดมสมองในการพัฒนานวัตกรรม (Hackathon) เพื่อพัฒนาแนวคิดและต้นแบบ (Prototype) ตามโจทย์และระยะเวลาที่กำหนด พร้อมนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 จะได้รับถ้วยรางวัล จาก สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
   

facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง   
ข้อมูล/ข่าว :    นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง   
เพิ่มข่าวโดย :   mayurate.sa@up.ac.th   
27/06/2568 17:25 น. (3 วันที่แล้ว)

สถิติการอ่านข่าวนี้
วันนี้: 9 ครั้ง | เมื่อวาน: 26 ครั้ง | เดือนนี้: 9 ครั้ง | ปีนี้: 196 ครั้ง | รวม: 196 ครั้ง