ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยพะเยา

     มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ถือกำเนิดจากการเป็นวิทยาเขตสารสนเทศของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาด้วยการกระจายโอกาสการศึกษาแก่ชุมชน และสังคม โดยระยะแรกก่อตั้ง ปี พ.ศ.2538 ได้ใช้อาคารของโรงเรียนพะเยาพิทยาคมเป็นการชั่วคราว และย้ายมาที่ตั้งถาวร ณ ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2542 บนพื้นที่ 5,158 ไร่ และสภามหาวิทยาลัยนเรศวรในคราวประชุม เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยาขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

     ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยามีศักยภาพและความพร้อมจัดการเรียนการสอนครอบคลุม ทุกสาขาวิชา ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีการจัดอบรมระยะสั้น (non degree) การเรียนล่วงหน้า (pre degree) และการสะสมหน่วยกิต ตอบสนองนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และตลาดแรงงาน และในการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยไทยตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) เรื่องการกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่ม 3 คือ มหาวิทยาลัยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-based and Community engagement)

     มหาวิทยาลัยพะเยามีการพัฒนามาตามลำดับและมีศักยภาพเข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นครั้งแรก ตามเกณฑ์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2563 และดีขึ้นเป็นลำดับถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings 2025 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 13 ของประเทศไทย การจัดอันดับของ THE Impact Rankings 2024 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 11 ของประเทศไทย นอกจากนี้ การจัดอันดับของ SCImago Institutions Rankings (SIR) 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศไทย และการจัดอันดับของ UI Green Metric World University Rankings 2023 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการจัดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานชั้นนำระดับโลก

     ด้วยความมุ่งมั่น มหาวิทยาลัยพะเยาสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ตามความต้องการของท้องถิ่น และพัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ตามปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “มหาวิทยาลัย สร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากลอย่างยั่งยืน”


การบริหารงาน

     ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย
ลำดับ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1 ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ 20 สิงหาคม 2563 – 17 ตุลาคม 2565
2 มีนาคม 2563 – 19 สิงหาคม 2563 (รักษาการ)
2 มีนาคม 2560 – 1 มีนาคม 2563
29 ตุลาคม 2559 – 1 มีนาคม 2560 (รักษาการ)
29 ตุลาคม 2553 – 28 ตุลาคม 2559
17 กรกฎาคม 2553 – 28 ตุลาคม 2553 (รักษาการ)
2 ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง 18 ตุลาคม 2565 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 (ทำหน้าที่แทน)
3 ดร. สมเกียรติ ชอบผล 20 กุมภาพันธ์ 2566 – 31 พฤษภาคม 2566 (ทำหน้าที่แทน)
4 ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถพล ใหญ่สว่าง 20 สิงหาคม 2566 - ปัจจุบัน (รักษาการ)
1 มิถุนายน 2566 – 19 สิงหาคม 2566

     ทำเนียบอธิการบดี

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา
ลำดับ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น 17 กรกฎาคม 2553 - 19 กันยายน 2553 (รักษาการ)
2 ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกร ดร. มณฑล สงวนเสริมศรี 11 พฤศจิกายน 2557 – 10 พฤศจิกายน 2561 (วาระที่ 2)
20 กันยายน 2557 – 10 พฤศจิกายน 2557 (รักษาการ)
20 กันยายน 2553 – 19 กันยายน 2557 (วาระที่ 1)
3 รองศาสตราจารย์ ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์ 18 มีนาคม 2566 - ปัจจุบัน
25 ธันวาคม 2565 – 17 มีนาคม 2566 (รักษาการ)
25 ธันวาคม 2561 – 24 ธันวาคม 2565 (วาระที่ 1)
11 พฤศจิกายน 2561 – 24 ธันวาคม 2561 (รักษาการ)