Halloween Quiz
31 ตุลาคมเป็นวัน Halloween เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เราเลยอยากชวนตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องผี เวทมนตร์ แม่มด สิ่งลึกลับในกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศกัน มาลองดูว่าจะตอบคำถามถูกกันกี่ข้อ คำเฉลยของคำถามอยู่ท้ายบทความนี้
1. ตามพระไอยการลักษณะรับฟ้องในกฎหมายตราสามดวง ผีในข้อใด ที่มาฟ้องคดีแล้ว ต้องยกฟ้อง
ก. ฉมบ
ข. จะกละ
ค. กระสือ
ง. ถูกทุกข้อ
2. ตามพระไอยการเบ็ดเสร็จของกฎหมายตราสามดวง โทษของการทำคุณไสยสาปแช่งผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจะต้องได้รับโทษอะไร
ก. ปรับไหม 3 ตำลึง
ข. กักขังเอาไว้ในเรือนตลอดชีวิต
ค. ประหารชีวิต แล้วริบทรัพย์สินเข้าพระคลัง
ง. ถูกทุกข้อ
3. ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้ามีข้อพิพาทหรือคดีความเกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์ การทำคุณไสย หน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาความ
ก. ศาลกระทรวงเวทมนตร์
ข. ศาลกรมแพทยา
ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้
ง. ศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อ 4.
ตามกฎหมายอาญาไทยยุคปัจจุบัน ถ้าเขียวพูดกับเหลืองว่า “ฟ้าเป็นผีกระหังปลอมตัวมาในหมู่บ้านเรา” เขียวทำความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทหรือไม่
ก. ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง ๆ แล้วเลิกคบกับฟ้าเพราะกลัวผี
ข. ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะคนทั่วไปไม่เชื่อว่าผีกระหังมีจริงจึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นต่อฟ้าที่ถูกพาดพิง
ค. ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้าเขียวสามารถพิสูจน์ได้ว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง และฟ้าต้องเป็นฝ่ายรับโทษทางอาญาเพราะเป็นผี
ง. มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ไม่ต้องรับโทษ ถ้าเขียวสามารถพิสูจน์ได้ว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง เพราะเขียวเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้
5. ใครคือคนสุดท้ายที่ถูกลงโทษจำคุกตามกฎหมายการใช้เวทมนตร์ หรือ Witchcraft Act 1735 ของอังกฤษ
ก. โดโลเรส อัมบริดจ์
ข. เฮเลน ดันแคน
ค. แวนดา แม็กซิมอฟ
ง. แดเนอริส ทาร์แกเรียน
หมายเหตุ
- ฉมบ - เป็นผีชนิดหนึ่งที่เกิดจากคนที่ตายในป่า มักปรากฏตัวเป็นแสงหรือเงาวูบวาบให้เห็น บางตำราว่าเป็นผีประเภทเดียวกับปอบ เกิดจากคนที่มีความรู้ด้านอาคมเวทมนตร์แล้วควบคุมไม่ได้ ของจึงย้อนเข้าตัว บางข้อมูลก็กล่าวว่า ฉมบหรือชมบหมายถึงคนที่มีผี เช่น กระสือ มาสิงอยู่ในตัว
- จะกละ - เป็นผีป่าชนิดหนึ่ง เชื่อว่าหมอผีเลี้ยงเอาไว้เพื่อทำร้ายศัตรู มักจะมีลักษณะคล้ายแมว
- กระสือ - ผีที่สิงในผู้หญิง ชอบกินของสกปรก ลักษณะเป็นดวงไฟ ในเวลากลางคืน บางข้อมูลกล่าวว่ากระสือเดินทางไปหากินด้วยการถอดหัวกับไส้ลอยไป ทิ้งตัวเอาไว้ที่บ้าน
- กระหัง - ผีที่สิงในผู้ชาย ชอบกินของสกปรกเช่นเดียวกับกระสือ ว่ากันว่าเวลาจะไปไหนมาไหนจะใช้กระด้งเป็นปีกและสากตำข้าวเป็นหางสำหรับบินไป
เฉลย
1. ตอบข้อ ง.
ในสมัยโบราณที่ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติและเวทมนตร์คาถาอยู่ จึงมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผีและการใช้ไสยศาสตร์อยู่ด้วย โดยพระไอยการลักษณะรับฟ้องในกฎหมายตราสามดวงได้กำหนดลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้องไว้ 20 ประการ โดยมีตอนหนึ่งกำหนดว่าถ้ามีผีฉมบ จะกละ กระสือมาฟ้องคดี ไม่ให้รับฟ้อง ถ้ารับฟ้องแล้วปรากฎความเรื่องนี้ทีหลังต้องยกฟ้อง
2. ตอบข้อ ค.
ตามมาตรา 139 ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ (ในภาษาปัจจุบันคือ เบ็ดเตล็ด แปลว่าเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องย่อย ๆ ที่ไม่สามารถจัดเอาไว้เป็นกลุ่มใดเฉพาะได้) ของกฎหมายตราสามดวง โทษของการทำคุณไสยสาปแช่งผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจะต้องได้รับโทษประหารชีวิต แล้วริบทรัพย์สินเข้าพระคลัง
“...ผู้ใดส่อท่านว่าเปนฉมบกฤษติยา รู้ว่านยา รู้วิทยาคุณกระทําให้ท่านตายพิจารณาเปนสัจ แลหากเทษส่อท่านดั่งนั้น ท่าให้ลงโทษโดยโทษานุโทษ แล้วให้ไหมขวบค่าตัวผู้ส่อ ถ้าเปนสัจดุจผู้ส่อ ท่านให้ฆ่ามันผู้รู้คุณว่านยาฉมบจะกละกฤษติยานั้นเสีย เพราะมันจะทําไปภายหน้า ส่วนทรัพยสิ่งสีนมันนั้น ให้เอาเข้าพระคลังหลวงจนสิ้น...”
3. ตอบข้อ ข.
ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศาลกรมแพทยามีหน้าที่ในการพิจารณาคดีข้อพิพาทหรือคดีความเกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์ การทำคุณไสย เวทมนตร์ต่าง ๆ คำว่า “แพทยา” ในที่นี้ มีความหมายเดียวกับแพทย์หรือหมอรักษาโรคในปัจจุบัน และเนื่องจากการรักษาโรคในสมัยก่อน ไม่ได้มีเฉพาะการใช้ยาหรือวิธีทางการแพทย์แผนโบราณอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการใช้ความรู้ทางไสยศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของกรมแพทยาหน้าและกรมแพทยาหลังในการตัดสินคดีความเกี่ยวกับไสยศาสตร์นั่นเอง
4. ตอบข้อ ข.
อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เพราะจำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามว่าโจทก์เป็นผีปอบ ความจริงโจทก์ไม่ได้เป็นผีปอบ ซึ่งทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนคือยกฟ้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การใส่ความจะต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย การกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ ตามความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบฐานหมิ่นประมาท และแม้คำว่าผีปอบอาจเป็นคำด่าที่ทำให้ผู้ที่ถูกด่าว่าหรือดูหมิ่นอื่นได้รับความอับอาย แต่เนื่องจากเขียวไม่ได้พูดต่อหน้าฟ้าจึงไม่ใช่การดูหมิ่นซึ่งหน้า เขียวจึงไม่ผิดฐานดูหมิ่นด้วยเช่นกัน
จากคำพิพากษาฎีกานี้ เห็นได้ว่าในยุคปัจจุบัน ศาลมองว่าผีเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องผี ดังนั้น การกล่าวหาคนว่าเป็นผีจึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา ต่างจากในสมัยก่อนที่เชื่อว่า ผีและไสยศาสตร์มีอยู่จริงและให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้
5. ตอบข้อ ข.
เฮเลน ดันแคน (Helen Duncan) เป็นคนสุดท้ายที่ถูกลงโทษจำคุกตามกฎหมายการใช้เวทมนตร์ หรือ Witchcraft Act 1735 ของอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับแม่มด เนื่องจากดันแคนประกอบอาชีพเป็นร่างทรง แต่ความจริงแล้ว ดันแคนถูกจับกุมและดำเนินคดีเพราะเป็นนักต้มตุ๋นที่ทำมาหากินด้วยการหลอกหลวงคนที่เชื่อว่าเธอติดต่อกับวิญญาณได้ หลังจากถูกพิพากษาให้จำคุกในเดือนเมษายนปี 1944 และถูกปล่อยตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน และในอีก 7 ปีต่อมา กฎหมายห้ามการใช้เวทมนตร์ก็ถูกยกเลิก
อ้างอิง
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509
2. ผีในกฎหมายตราสามดวง (วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2560)
3. “ผี” ในตราสามดวง http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%9C%E0%B8%B5-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87
4. ‘ผีกระสือ’ เมืองอโยธยา หลายร้อยปีมาแล้ว (ก่อนสุโขทัย) โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4243084
5. “กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง” 2 หน่วยงาน พิพากษาคดีไสยศาสตร์ อยุธยา-รัตนโกสินทร์ https://www.silpa-mag.com/culture/article_140658
6. เฮเลน ดันแคน : แม่มด ชาวอังกฤษ คนสุดท้ายในศตวรรษที่ 20 https://ngthai.com/history/52242/helen-duncan-the-witch/
บทความโดย ฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
School of Law
University of Phayao
Address:
อาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) 19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000
โทรศัพท์ 0832566446,054-466-666
ต่อ 1614 งานธุรการ,งานแผนงาน,งานพัสดุ
ต่อ 1618 งานการเงินและบัญชี
ต่อ 1137 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อ 1851 งานกิจการนิสิต,งานบุคลากร
ต่อ 1852 งานวิชาการ
ต่อ 1619 คลินิกกฎหมาย,งานวิจัยและบริการวิชาการ
เว็บไซต์ https://law.up.ac.th/
อีเมล์ law.up@up.ac.th