อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา นำทีมพบผู้บริหารสถานศึกษาและครูแนะแนว กลุ่มภาคกลาง ณ จังหวัดนครสวรรค์
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยพะเยา กองบริการการศึกษา จัดโครงการผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยาพบผู้บริหารสถานศึกษาและแนะแนวสัญจร ประจำปีการศึกษา 2568 ณ ห้องประชุม Forum Ballroom โรงแรม เดอะ พาราดิโซ เจเค ดีไซน์ จังหวัดนครสวรรค์ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ บรรยายในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยพะเยา….เป้าหมายแห่งความสำเร็จ” กล่าวถึง ความเป็นมา และความสำเร็จของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ได้รับการจัดอันดับใน THE World University Ranking 2024 อันดับที่ 13 ร่วมของประเทศ และยังได้รับการจัดอันดับ จาก THE Impact Ranking 2024 ในอันดับที่ 10 Scimago Institutions Rankings 2024 ในอับดับที่ 11 UI Green Metric ในอันดับที่ 10 และ THE Young University Rankings การจัดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ที่ดีที่สุดในโลกที่ก่อตั้งมาน้อยกว่า 50 ปี โดยมหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ใน 5 อันดับมหาวิทยาลัยใหม่ดีที่สุดในไทย ปี 2567 นอกจากนี้ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยพะเยา ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก “World’s Top 2% Scientists” ประจำปี 2024 โดย Stanford University ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงกระบวนการจัดการศึกษาที่ตอบรับกับบริบทสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการศึกษาในระบบปิด การศึกษานอกห้องเรียน การศึกษาจากประสบการณ์ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโดยการใช้ AI โดยมหาวิทยาลัยได้มีการจัดการศึกษา หลักสูตรควบ 2 ปริญญา Pre-Degree Non-Degree และ Up-Skill Re-Skill เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning) และสังคมสูงวัย (Aging Society) ด้วยการบริหารตามพันธกิจที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ทั้งด้านการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยนอกมหาวิทยาลัย Green Environment และการเชื่อมโยงกับชุมชน ดังปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้บริหารและครูแนะแนวในการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม (Societal Well-Being) ต่อไป
ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอ ในหัวข้อ “พื้นที่แห่งการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ” โดย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิดา เทพหินลัพ กล่าวถึง การเตรียมคนและเสริมสร้างศักยภาพคนให้มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต โอกาสทางการศึกษา โดยเน้นการสร้างสมรรถนะ (Competence-based Education) ตอบสนองต่อการทำงานในอนาคต ด้วยสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ที่สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ และบริบทจริง (Experiential-based Learning) ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเงิน จันทรมณี ได้กล่าวถึง UP Academy หลักสูตร Pre-Degree ให้นักเรียนที่กำลังจะเข้าศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา สามารถลงทะเบียนเรียนก่อนได้ ผู้ช่วยอธิการบดี ดร. จารุวรรณ โปษยานนท์ ได้ให้ข้อมูลถึงความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของนิสิตในมหาวิทยาลัย รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ ได้กล่าวถึงการจัดสภาพแวดล้อม การปรับภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยพะเยา สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้นิสิตได้ใช้ชีวิต อยู่และเรียนอย่างมีความสุข โดยคำนึงถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ธีรภูธร ได้แจ้งช่องทางการติดต่อสื่อสาร ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้คุณครูและผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลและสามารถติดต่อสื่อสารกับมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และ คณบดีจากคณะ/วิทยาลัย ทั้ง 3 กลุ่มสาขาวิชา ประกอบด้วย กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะ/วิทยาลัย ใน Concept “มหาวิทยาลัยพะเยา พื้นที่แห่งการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชระ แลน้อย และ อาจารย์ณัฐวุฒิ สมยาโรน เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากนั้น เป็นการบรรยายเรื่อง “แนวทางการรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยพะเยา ปีการศึกษา 2568” โดย ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชระ แลน้อย และ ตอบคำถามจากผู้บริหารสถานศึกษา และครูแนะแนว
ในการจัดโครงการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้กับครูแนะแนวเครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยาที่เกษียณอายุราชการ คุณครูอำพันธ์ รอบุญ จากโรงเรียนคลองขลุงราษฏร์รังสรรค์ และ ครูภณัฐศิญา คงไทย จากโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา และครูแนะแนว จากจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 130 คน