กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 2: หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

13/6/2567 16:39:46น. 2419
หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 2: หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ตอนที่แล้ว ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาพาไปทำความรู้จักกับ “SOGIESC” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับทำความเข้าใจความหลากหลายของเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ในตอนที่ 2 ของ “กฎหมายใน Pride Month” เราอยากแนะนำให้รู้จักกับหลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles) กันบ้าง

“หลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles)” เป็นแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยมาจากการที่นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้มีมติให้การรับรองหลักการดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมวิชาการที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในปี 2006 (พ.ศ. 2549) โดย ศ. วิทิต มันตาภรณ์ นักวิชาการด้านกฎหมายของประเทศไทยได้ร่วมลงมติและลงนามรับรองหลักการยอกยาการ์ตาในการประชุมครั้งนี้ด้วย

เหตุที่มีการออกหลักการยอกยากาตาร์ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เนื่องจากที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าแม้รัฐบาลหลายประเทศได้ให้คำมั่นว่าจะปฎิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังพบข้อมูลว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศต่าง ๆ ยังคงถูกทำร้าย ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกประทับตรา (stigmatized) ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ หรือถูกกีดกันในหลายรูปแบบทำให้ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว และแม้ว่าการกระทำบางอย่างไม่ได้แสดงออกด้วยความรุนแรงหรือกระทำทารุณอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกอับอาย ต้องปกปิดหรืออำพรางอัตลักษณ์และเพศวิถีของตนเองเพราะเกรงว่าจะต้องเสียประโยชน์หรือไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การบังคับให้คนข้ามเพศต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าเรียนในสถานศึกษาหรือเข้าทำงาน การบังคับตรวจเลือดด้วยเหตุผลที่มีพื้นฐานจากอคติเกี่ยวกับเพศวิถีของคนบางกลุ่ม เป็นต้น

เนื่องจากขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการนำเอาหลักการทางสิทธิมนุษยชนไปใช้ในทางปฏิบัติในกฎหมายระดับประเทศทำให้หลายประเทศยังคงมีกฎหมายที่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ประชุมจึงได้วางแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นแนวทางการสร้างมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่น ๆ ในการคุ้มครองรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างรอบด้านให้เกิดผลในความเป็นจริง เช่น ต้องมีกฎหมายที่สร้างความเท่าเทียม มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและจัดทรัพยากรที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งกำหนดให้มีการปกป้องสิทธิและเยียวยาผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกละเมิดสิทธิอีกด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“หลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principles)” เป็นหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่รับรู้และยอมรับความแตกต่างหลากหลายด้านเพศวิถี (Sexual Orientation) และ อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ประกอบด้วยหลักการ 29 ข้อที่ครอบคลุมสิทธิด้านต่าง ๆ ของบุคคลที่มีความแตกต่างด้านเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น สิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับคนทั่วไป สิทธิที่จะเท่าเทียมผู้อื่นและไม่ถูกแบ่งแยก สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิที่จะมีอิสระจากการถูกลิดรอนเสรีภาพโดยพลการ สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมขณะถูกคุมขัง สิทธิที่จะถูกกันออกจากการทรมานและการลงโทษหรือการปฏิบัติอย่างทารุณ ไร้มนุษยธรรม หรือหยามเกียรติ สิทธิที่จะทำงาน สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในสังคม และมาตรการป้องกันทางสังคมอื่น ๆ สิทธิทางการศึกษา สิทธิที่จะได้รับการดูแลสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุด สิทธิที่จะสร้างครอบครัว สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายอย่างเต็มที่ เป็นต้น โดยรัฐต้องสามารถตรวจสอบการกระทำอันละเมิดสิทธิดังกล่าวข้างต้นได้

จากหลักการทั้ง 29 ข้อ อาจสรุปหัวใจสำคัญของหลักการยอกยาการ์ตาอย่างสั้น ๆ ได้ว่า “ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ไม่แบ่งแยกกีดกัน ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ปกป้องคุ้มครองบุคคลที่มีความแตกต่างจากความรุนแรงไม่ว่าทางกายภาพหรือด้วยประการอื่น ๆ และสนับสนุนให้เกิดการรับรองสิทธิทางกฎหมายด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิในการมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต สิทธิในการแสดงออก สิทธิในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เป็นต้น เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและทำให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึงได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิและการกระทำที่ไม่เป็นธรรม” นั่นเอง

“หลักการยอกยาการ์ตาบวกสิบ” (Yogyakarta Principles Plus 10 หรือ YP+10) หลังจากมีการนำหลักการยอกยาการ์ตามาใช้แล้วก็ได้มีการทบทวนหลักการเพิ่มเติม โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2017 (2560) ได้มีการเพิ่มหลักการและพันธกรณีที่รัฐจะต้องนำแนวปฏิบัติไปใช้เพิ่มเติมในหลักการยอกยาการ์ตาจากเดิมอีก 10 ประเด็นด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีหลากหลายทางเพศในมิติอื่น ๆ คือ การรับรู้ เข้าใจ และยอมรับความแตกต่างในด้านการแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) และเพศสรีระ (Sex Characteristics) รวมถึงกลุ่มคนที่มี “อัตลักษณ์ทับซ้อน” (intersectionality) หรือกลุ่มคนที่ถูกกดทับในสังคมมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เป็นบุคคลข้ามเพศที่ยากจนทำให้ไม่สามารถเข้าสู่บริการทางการแพทย์หรือสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการข้ามเพศได้ เป็นคนรักเพศเดียวกันที่นับถือศาสนาที่ไม่ยอมรับในเพศวิถีดังกล่าว เป็นต้น

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในบทความกฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 1 ว่าด้วย SOGIESC ก็จะเห็นว่าหลักการยอกยาการ์ตา ปี 2006 และหลักการยอกยากาตาร์บวกสิบ ปี 2017 รับรู้และมีการวางแนวทางปฏิบัติในการนำกฎหมายสิทธิมนุษยชนไปใช้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับบุคคลที่มีความหลากหลายในทุกมิติ ได้แก่ เพศวิถี (sexual orientation) อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) การแสดงออกทางเพศ (gender expression) และเพศสรีระ (sex characteristics) ที่เราเรียกด้วยตัวย่อว่า SOGIESC นั่นเอง

นอกจากการรับรู้ เข้าใจ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น หลักการ 10 ข้อที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาใน YP+10 เป็นการแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น สิทธิในการได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ สิทธิในการได้รับการรับรองโดยกฎหมาย สิทธิในการเป็นอิสระจากการทำให้ความหลากหลายทางเพศเป็นความผิดหรือถูกลงโทษด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ สิทธิในการที่จะมีบูรณภาพที่สอดคล้องกันระหว่างร่างกายและจิตใจ เป็นต้น แต่ก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่าอาจต้องมีการทบทวนเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดมาตรการทางกฎหมายในการปกป้องสิทธิของ Intersex (บุคคลที่มีเพศสรีระของทั้งหญิงชายหรือในบางครั้งแปลว่าเพศกำกวม) โดยเฉพาะผู้เยาว์ที่ยังไม่สามารถให้ความยินยอมด้วยตนเองได้ ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ หลักการยอกยากาตาร์เกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงถูกทำร้าย ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมายได้ เพราะกฎหมายภายในของหลายประเทศยังคงมีลักษณะเลือกปฏิบัติหรือไม่ให้การยอมรับบุคคลที่มีเพศวิถี (sexual orientation) อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) การแสดงออกทางเพศ (gender expression) และเพศสรีระ (sex characteristics) ที่แตกต่าง ในปัจจุบัน หลักการยอกยาการ์ตาก็ได้ขยายแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกกดทับซ้อนกันหลายชั้น หลักการยอกยากาตาร์จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนากฎหมายที่สร้างความเท่าเทียมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และสร้างมาตรการทางกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเทศไทย นอกจากบรรจุหลักการความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศเอาไว้ในรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีความพยายามในการพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรับรองความเสมอภาคทางเพศ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่มีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่ากฎหมายบางเรื่องจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันก็ตาม ยังมีประเด็นทางสิทธิมนุษยชนและกฎหมายของไทยที่สมควรได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น สิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของบุคคลข้ามเพศ การได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมขณะถูกคุมขังที่ยังคงไม่เท่าเทียมและยังคงมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ เป็นต้น ซึ่งการผลักดันให้กฎหมายเหล่านี้สามารถนำมาบังคับได้จริงในอนาคตก็มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการนำกฎหมายที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาใช้ให้เกิดผลอย่างแท้จริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกภาคส่วนมีความ ‘เข้าใจ’ และ ‘ยอมรับ’ ในความหลากหลายในเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างอย่างแท้จริง ผ่านการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่การ ‘ทนได้ แต่ไม่ยอมรับ’ โดยไม่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น

ในตอนต่อไปของ “กฎหมายใน Pride Month” เราจะมาติดตามวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภากันในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยจะได้ไปต่อในทิศทางใด ผู้สนใจสามารถติดตามการพิจารณาร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ผ่านเพจคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และการถ่ายทอดสดที่คลินิกกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


อ้างอิง
1. Yogyakarta Principles Plus 10 https://yogyakartaprinciples.org/principles-en/yp10/
2. ไพศาล ลิขิตปรีชากุล (ผู้แปล) (2551). หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.
3. ประชาไท, (2551). ชี้ "หลักการยอกยาการ์ตา" ปฎิบัติไม่ได้ ถ้าจิตสำนึกประชาธิปไตยยังไม่เกิด. https://prachatai.com/journal/2008/05/16766
4. UNDP, (2021). อัตลักษณ์ทับซ้อนกับเยาวชนข้ามเพศ. https://www.thailandsocialinnovationplatform.org/.../int.../
5. Amnesty Thailand, สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ. https://www.amnesty.or.th/our-work/lgbt
6. พี่เมก้า, (2561). “ทนได้ แต่ยอมรับไม่ได้! จริงหรือพื้นที่สำหรับกลุ่ม LGBT ในโรงเรียนยังถูกปิดกั้น?” https://www.dek-d.com/education/50722/
7. บุษกร สุริยสาร, (2557). อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ; โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของการทำงาน (PRIDE). – กรุงเทพฯ: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557
8. Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions, (2016). Promoting and Protecting Human Rights in relation to Sexual Orientation, Gender Identity and Sex Characteristics. https://www.asiapacificforum.net/.../manual-sogi-and-sex.../

หมายเหตุ:
“กฎหมายใน Pride Month” เป็นบทความพิเศษจากฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กรที่จะนำเสนอในช่วงเดือนมิถุนายนทั้งหมด 4 ตอน ได้แก่
(1) รู้จัก SOGIESC เพื่อเข้าใจความหลากหลายทางเพศ
(2) หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles 2006) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
(3) ทิศทางกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย กับวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภา วันที่ 18 มิถุนายน 2567 และ
(4) งานวิจัยกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

บทความโดย ฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
>> อ. ปิยอร เปลี่ยนผดุง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
13/6/2567 16:39:46น. 2419
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน