วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดแหล่งเรียนรู้สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ ภายใต้โครงการ 1 ชุมชน 1 นวัตกรรม ดำเนินตามนโยบายมหาวิทยาลัยพะเยา ที่มีปณิธาน“ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และวิสัยทัศน์ในการพัฒนา “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน” ประกอบกับมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาชั้นนำในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน (Learning space) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม (Societal Well-being)
ในการนี้ได้รับเกียรติจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานในการเปิดโครงการฯ โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยาได้แก่ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร รศ.ดร.ดิเรก ธีระภูธร รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ ผศ.สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการกองกลาง นางณัฐธิดา ชาวน่าน ผู้อำนวยการกองทรัพย์สิน นางกฤษณา แปงณีวงค์ และผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเกียรติในพิธี
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด จูหว้า กล่าวรายงานโครงการเปิดแหล่งเรียนรู้สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านสุมนไพรท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ ในการให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมกับภาคีเครือข่าย และสร้างแหล่งเรียนรู้ในเชิงพื้นที่และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและทักษะการฝึกปฏิบัติด้านสมุนไพรท้องถิ่น การแพทย์แผนตะวันออก สุขภาพ แบบองค์รวม การจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพแรงงาน และการใช้ปราชญ์ชาวบ้านในการส่งเสริมสุขภาพให้กับภาคีเครือข่าย ประชาชนทั่วไป บุคลากร และนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา
กิจกรรมของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในเชิงพื้นที่ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ ดำเนินการได้ทั้งในชุมชน หน่วยงานภายนอกและภายใน โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เช่น มิติสุขภาวะ สมุนไพร แพทย์แผนตะวันออก (ไทย-จีน) ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัย และกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การจัดการเรียน/การสอน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การจัดการความรู้ในพื้นที่การเล่าเรื่อง (Storytelling) ประวัติความเป็นมาของชุมชน ชาติพันธุ์ ขนบประเพณี วัฒนธรรมการรับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน การจัดเวทีประชาคมเพื่อการเรียนรู้และตัดสินใจร่วมกัน การเรียนรู้ผ่าน E-Learning การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนา อภิปราย เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งในชุมชน
อีกทั้งยังมีกิจกรรมการให้บริการสุขภาพ ซึ่งดำเนินโดยตัวแทนบุคลากรและนิสิตทุกสาขาวิชา คณะสาธารณสุขศาสตร์ คือ บริเวณพื้นที่โครงการหลวงปังค่า มีการเล่าเรื่อง (Storytelling) การดำเนินกิจกรรมชาเจียวกู่หลานและชุมชนต้นแบบบ้านปางค่าเหนือ และให้บริการสุขภาพทางการแพทย์แผนตะวันออก (ไทย-จีน) และบริเวณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบ็ตตี้ดูเม็น มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้และสมุนไพรในโรงเรียนให้กับนักเรียน ประกอบด้วย กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) การคัดแยกขยะ สถานีปลอดภัย-ซ้อมเหตุฉุกเฉิน (ดับเพลิง แผ่นดินไหว) และการปลูกผัก-สมุนไพร (ผักสวนครัว รั้วกินได้เพื่ออาหารกลางวัน)
ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ ทักษะต่าง ๆ และการขยายเครือข่ายสู่ความร่วมมือด้านสุขภาพ สมุนไพรท้องถิ่น แพทย์แผนตะวันออก อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ นำไปสู่เป้าหมายการบูรณาการและการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆ มิติต่อไป