คณะพยาบาลศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.ปะราลี โอภาสนันท์ ร่วมด้วย คณะนักวิจัยจำนวน 8 คนภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง จังหวัดพะเยา ได้สรุปผลงานการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง ภายใต้ข้อคิดและคำคมการทำงานว่า “เข้าถึง...เป็นธรรม..เท่าเทียม” เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมเกทเวย์ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก คุณสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารย์ ประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคเหนือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) คุณวิชัย นะสุวรรณโณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คุณปวัน พรหมตัน ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือ (ศวภ.เหนือ) และคุณศุภชัย เสนตา นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ จากสำนักงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะแนวทางอันเป็นประโยชน์ในการจัดการดูแลโดยชุมชนและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในภาคเช้าเป็นการบรรยาย เรื่อง สถานการณ์ครัวเรือนเปราะบางของจังหวัดพะเยา การสรุปปัญหาและความต้องการของกลุ่มเปราะบาง การเสวนาและอภิปรายกลุ่ม เรื่อง บทบาทภาคีเครือข่ายกับการดูแลกลุ่ม ภาคบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานของตัวแทนตำบลในการสร้างและพัฒนากลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่ในการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและกลุ่มเด็ก จำนวน 7 พื้นที่ การเสนอข้อเสนอ เชิงนโยบายต่อการคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง รวมถึง การนำเสนอผลงานวิจัยเชิงพื้นที่ของคณะทำงานจำนวน 11 ชื่อเรื่อง
บทสรุปในเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้สะท้อนว่า ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุ้มครองทางสังคมควรให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเปราะบางโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนามุ่งเน้นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีเครื่องมือ กลไก วิธีการแนวปฏิบัติ เพื่อให้กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ได้รับการคุ้มครองทางสิทธิขั้นพื้นฐาน ดำรงตนอย่างมีศักยภาพและมีศักดิ์ศรี นับเป็นพลังความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น จำนวน 10 พื้นที่ จาก 9 อำเภอของจังหวัดพะเยาที่เป็นเครือข่ายคู่ความร่วมมือ รวมถึง องค์กรภาคประชาสังคมที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำขับเคลื่อนการทำงานเพื่อกลุ่มเปราะบางในชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับความสนใจเป็นอันมากจาก ผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคนในจังหวัดพะเยาเข้าร่วมจำนวนกว่า 300 คน