วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมทั้งเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิต และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย สามารถใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนและเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบของสถาบันได้ โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ พร้อมด้วยบุคลากร จากคณะ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเข้าร่วมงาน จัดขึ้น ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การลงนามความร่วมมือว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริมและถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและการใช้ประโยชน์ นำไปสู่การยกระดับและพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด
ตามที่ มหาวิทยาลัยพะเยา และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมทั้งเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา สามารถใช้เทคนิคแสงซินโครตรอน และเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบของสถาบันได้ ร่วมกับพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้อง และร่วมสร้างความร่วมมือเครือข่ายงานวิจัยที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน อีกทั้งยังร่วมกันสนันสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และด้านเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง เพื่อใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ข้อมูลสารสนเทศ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และเอกสารทางวิชาการ ร่วมทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่หน่วยงานเห็นสมควร จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มีปณิธานมุ่งมั่น "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน" และวิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากลอย่างยั่งยืน" มุ่งเน้นการเตรียมคนและเสริมสร้างศักยภาพคน ให้มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต สนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้ตลอดเวลา และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ วิจัย นวัตกรรม และการบริการวิชาการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม
ผู้บริหารทุกระดับของส่วนงานได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัย ให้อาจารย์ นักวิจัย และนิสิตที่มีความสนใจ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะด้าน ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นในอนาคต ความร่วมมือทางวิชาการตามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยา และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในวันนี้ จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี โดยอาศัยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นฐาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน การสร้างสรรค์กิจกรรมทางวิชาการใหม่ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง สู่การประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ชุมชนและสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมต่อไป
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและมหาวิทยาลัยพะเยาเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีและสนับสนุน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นเครื่องแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาและเป็นเครื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันวิจัย เรามีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ดำเนินการได้ประสิทธิภาพสูงสุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นฐานของการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และทางด้านเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เราได้เห็นในช่วงหลังของประเทศไทย และประเทศไทยกำลังสร้าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แห่งที่ 2 ขึ้น ณ จังหวัดระยอง ในพื้นที่ของ EEC ซึ่งจะสามารถเป็นกำลังได้มากยิ่งขึ้นและเป็นเครื่องจักรของแสงซินโครตรอน ที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ ดังนั้นเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากที่สามารถก่อให้เกิดผลในด้านต่างๆโดยทางรัฐมนตรีได้มอบนโยบายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญนี้เป็นของประเทศ ไม่ได้เป็นของหน่วยงาน หรือของกระทรวง อว. แต่เป็นของประเทศไทย เข้ามาร่วมใช้ทำให้เกิดประโยชน์ทุกมิติพร้อมกัน เพื่อได้ใช้ประโยชน์ให้สูงสุดต่อไป