เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ อาคาร ๙๙ ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรเทพ ดรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขึ้นรับโล่รางวัล Gold Award โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม (โล่ระดับเหรียญทอง) จากรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ พะเยาวิจัย ครั้งที่ 12 จากผลงาน โครงการ "พัฒนานวัตกรรมสื่อคอนเทนต์เพื่อยกระดับด้านศักยภาพการขายแพลตฟอร์มระบบอีคอมเมิร์ชของกลุ่มแปรรูปผ้าปักชนเผ่าและผ้าเขียนเทียน ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา" ผลิตภัณฑ์ : ผ้าปักชนเผ่า และผ้าเขียนเทียน
ซึ่งมีดร.เกวรินทร์ จันทร์ดำ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย ดร.นภา ราชตา, อาจารย์สุพรรณ์ทองเพชร และอาจารย์พิพัฒน์พงษ์ แซ่ฟู อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล เป็นทีมงานผู้ช่วยวิจัย โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดพะเยา ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงด้วยศาสตร์พระราชา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หลักสูตรการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น และการสร้าง Content สินค้าเพื่อการขายออนไลน์ไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับชาวบ้านจากพื้นที่ราบสูงในพื้นที่จังหวัดพะเยาได้รับทราบถึงปัญหาและความต้องการในการหาช่องทางการตลาด เพื่อกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ราบสูงให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้และสานต่ออัตลักษณ์ของชุมชนให้คงอยู่ จนก่อให้เกิดการบูรณาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแปรรูปผ้าปักชาวเขาบ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง นำโดยคุณดาวเรือง กาญธนะบัตร โดยได้มีการจัดอบรมและให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่กลุ่มแปรรูปฯ ทั้งอบรมการถ่ายภาพสินค้า และการตกแต่งภาพถ่ายโดยการใช้ Application Canva ผ่านอุปกรณ์มือถือ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน และอบรมการใช้งานระบบอีคอมเมิร์ช www.Inwshop.com ขายสินค้าออนไลน์ อีกทั้งยังมีการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขั้นตอนการก่อย้อมคราม และย้อมห้อม ณ จังหวัดแพร่ เพื่อนำมาแก้ปัญหาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแปรรูปผ้าปักชนเผ่าและผ้าเขียนเทียนบ้านสิบสองพัฒนาให้มีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการร่วมกันวิเคราะห์การออกแบบลวดลายของตัวปั๊มเขียนเทียนที่จะนำมาปั๊มบนผ้าให้เกิดลวดลายที่สวยงามและเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มฯ โดยเฉพาะ จนก่อเกิดลวดลายแบบใหม่ จำนวน 4 ลาย ที่ประยุกต์จากลวดลายเก่าแก่ของชนเผ่าม้งแบบดั้งเดิม ได้แก่ ลายก้ามปูนำโชค, ลายแมงมุมชักเงินชักทอง, ลายเต่าหมื่น ๆ ปี และลายกังหันดูดทรัพย์