การจัดการขยะพลาสติกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว

7/7/2564 13:21:30น. 2891
การจัดการขยะพลาสติกสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ดร.ปรัชญ์ ปิงเมืองเหล็ก


“ปัจจุบันในประเทศไทยขยะพลาสติกมากกว่าครึ่งจะถูกกำจัดด้วยกระบวนการที่ยังไม่ถูกวิธีและส่งผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม” พลาสติกเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มการใช้งานที่สูงขึ้นด้วย

เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเบา แข็งแรง ทนทาน ราคาถูก และสามารถนำมาผลิตให้มีรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายรูปแบบและมีสีสันสวยงามให้เลือกใช้อย่างมากมาย ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นทำให้พลาสติกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร




ซึ่งส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในปริมาณมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าโดยเฉลี่ย “ถุงพลาสติก” จะเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุดและถูกทิ้งมากในทุก ๆ วันทั่วโลก เนื่องจากขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเอง (“ขยะพลาสติก” ปัญหาระดับโลกที่ต้องเร่งจัดการ, 2563)

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันต่อวันในปี 2562 เป็น 3,440 ตันต่อวัน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เฉพาะเดือนเมษายนอย่างเดียว การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกคิดเป็นเกือบร้อยละ 62 ส่งผลให้รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573



โดยยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้งซึ่งรวมถึงถุงพลาสติกหูหิ้วนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และมีเป้าหมายมุ่งลดขยะพลาสติกลงให้ได้ร้อยละ 30 แต่อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์ตาม Roadmap ดังกล่าว ยังอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ ซึ่งอาศัยความร่วมมือร่วมใจและจิตสำนึก โดยไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย ตลอดจนแรงจูงใจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยพะเยา ก็เป็นอีกหนึ่งที่มีปัญหาขยะพลาสติก โดยงานวิจัยการศึกษาประสิทธิภาพของระบบคัดแยกและต้นแบบการผลิตเชื้อเพลิงขยะโดยเทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากการคัดแยกและแปรรูปขยะ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้มาต่อยอดขยายผลในการใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการและในเชิงพาณิชย์ ระบุว่า



ปริมาณของขยะทั้งหมดของมหาวิทยาลัยพะเยามีปริมาณเฉลี่ย 2,963 กิโลกรัมต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยคิดเป็น 90 ตันต่อเดือน โดยขยะพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะที่มีมากที่สุด ประมาณ 1,468 กิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.54 ของขยะทั้งหมด เมื่อเทียบกับสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปของประเทศที่มีประมาณร้อยละ 17.6 (The United States’ contribution of plastic waste to land and ocean) พบว่า มหาวิทยาลัยพะเยามีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปสูงกว่าสัดส่วนของประเทศประมาณ 2.8 เท่า

ปัญหาขยะพลาสติกที่มีแนวโน้มในการใช้งานสูงขึ้น ประกอบปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 ซึ่งมีกลยุทธ์ที่ว่าพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะที่ดี (Green and Clean University)

ที่เน้นการสร้างจิตสำนักและความตระหนักในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก รวมถึงหลอดดูดพลาสติก โดยการรณรงค์กับร้านค้า ร้านอาหาร และทำบันทึกข้อตกลงกับร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย ในการงดใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท คิดคิด จำกัด ในการนำแอพพลิเคชั่น ECOLIFE ด้วยการเชิญชวนให้บุคลากรและนิสิตมาเล่นเกมผ่านแอพฯ ECOLIFE ที่มีแนวคิดง่าย เล่นสนุก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับพฤติกรรมการรักษ์โลกช่วยกันลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

การรณรงค์และสร้างจิตสำนักดังกล่าว ส่งผลให้สัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปของมหาวิทยาลัยพะเยาลดลง จากวิจัยแนวทางการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยพะเยา พบว่า ปริมาณขยะพลาสติกมีประมาณ 1,166 กิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.38 ของขยะทั้งหมด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา

ยังมีแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกที่เหลืออีกร้อยละ 39.38 โดยวิธีการแปรรูปให้เป็นเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) และจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์เพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติกผ่านกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกโดยเทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพ หรือ MBT (Mechanical Biological Treatment) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการลดความชื้นในขยะพลาสติกและสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ



เพื่อให้ขยะพลาสติกเกิดค่าความร้อนที่เพียงพอต่อการเผาไหม้ จากการศึกษาวิจัย พบว่า ขยะพลาสติกก่อนนำเข้าระบบการผลิตเชื้อเพลิงขยะโดยเทคโนโลยีเชิงกลชีวภาพ (MBT) มีปริมาณความชื้นร้อยละ 43.71 ระบบ MBT จะทำงานโดยจะทำการพลิกกลับกองขยะให้ห้องหมักอย่างน้อย 15 – 20 วัน เพื่อให้ความร้อนที่อยู่ใต้กองขยะระบายออกมา ส่งผลให้ระบบสามารถลดความชื้นของขยะพลาสติกได้ร้อยละ 39.40 ซึ่งขยะที่ออกจากระบบนี้จะพร้อมใช้งานและเข้าสู่ระบบคัดแยกผลิตภัณฑ์ต่อไป

ระบบ MBT สามารถแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงจากขยะ โดยให้ค่าความร้อนอยู่ระหว่าง 7,845 – 9,677 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในค่าความร้อนของโรงปูนซีเมนต์ที่ประมาณ 4,500 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม

เป็นผลิตภัณฑ์ได้ 4 ประเภท ได้แก่

  • 1) เชื้อเพลิงขยะเกรด A (RDF–A) ซึ่งจะมีน้ำหนักเบาและให้ค่าความร้อนสูง มีปริมาณที่แปรรูปได้ร้อยละ 34 หรือคิดเป็นเฉลี่ย 1,007 กิโลกรัมต่อวัน
  • 2) เชื้อเพลิงขยะเกรด B (RDF–B) ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่าเกรด A มีปริมาณที่แปรรูปได้ร้อยละ 8 หรือคิดเป็นเฉลี่ย 237 กิโลกรัมต่อวัน
  • 3) ปุ๋ยหมัก มีปริมาณที่แปรรูปได้ร้อยละ 6 หรือคิดเป็นเฉลี่ย 178 กิโลกรัมต่อวัน และ
  • 4) รีไซเคิล มีปริมาณที่คัดแยกได้เฉลี่ย 267 กิโลกรัมต่อวัน

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ของระบบ MBT จากต้นทุนและรายได้จากการแปรรูปขยะ พบว่า ต้นทุนในการบริหารจัดการขยะเท่ากับ 0.53 บาทต่อกิโลกรัมขยะ และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปขยะเท่ากับ 0.56 บาทต่อกิโลกรัม

จากแนวทางการจัดการขยะพลาสติกตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 จะเป็นไปได้ว่ามหาวิทยาลัยพะเยามีศักยภาพที่จะมุ่งสู่การเป็น Zero waste ได้ โดยการใช้ประโยชน์จากการคัดแยกและแปรรูปขยะ สำหรับจำหน่ายเป็นรายได้เพื่อสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการขยะพลาสติกต่อไป และมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน


เนื้อหาโดย :

ดร.ปรัชญ์ ปิงเมืองเหล็ก

หัวหน้างานสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   nantawat.mu@up.ac.th   
7/7/2564 13:21:30น. 2891
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน