สิทธิในการปฏิเสธการรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดการตายในระยะท้ายหรือยุติความทรมานจากการเจ็บป่วย ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

13/12/2567 15:35:21น. 342
สิทธิในการปฏิเสธการรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดการตายในระยะท้ายหรือยุติความทรมานจากการเจ็บป่วย ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

สิทธิในการปฏิเสธการรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดการตายในระยะท้ายหรือยุติความทรมานจากการเจ็บป่วย ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550


สรุปสาระสำคัญ (2-Minute Read)

  • ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือต้องทุกข์ทรมานกับอาการป่วยของตนเองที่ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนออกไป หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้สามารถทำ “หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย” (Living Will) เอาไว้ล่วงหน้าได้ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
  • เมื่อทำหนังสือแสดงเจตนาแล้ว ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นการรักษาพยาบาลอย่างมีมนุษยธรรมเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายได้โดยไม่เกิดความทุกข์ทรมาน และทำให้จากไปอย่างสงบ
  • ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำการุณยฆาต (Euthanasia) โดยเฉพาะการุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) ที่มีลักษณะเป็นการเร่งการตายให้เร็วขึ้นด้วยการนำสารหรือวัตถุอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกาย ผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

สิทธิในการตาย (Right to Die หรือ End-of-Life Rights) หมายความถึง สิทธิของบุคคลที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเมื่อบุคคลนั้นต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย เช่น การปฏิเสธการผ่าตัด การใช้ยา การช่วยคืนชีพ หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิตออกไปเพื่อชะลอการตาย ในยุคปัจจุบัน สิทธิในการตายเป็นสิทธิที่มีการพูดคุยกันมากขึ้นว่า โดยถือว่าเป็นหนึ่งในการดำรงรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (human dignity) และสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง (Right to Self-Determination)

รูปแบบของการใช้สิทธิในการตาย มีการแบ่งประเภทของการใช้สิทธิในการตายตามวัตถุประสงค์และรูปแบบหลายอย่างด้วยกัน โดยหากจัดประเภทตามรูปแบบแล้ว การใช้สิทธิในการตายโดยที่ผู้ป่วยเป็นผู้ร้องขอด้วยตนเองในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมได้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่ การใช้สิทธิในการปฏิเสธการรักษา และ การใช้สิทธิในการร้องขอให้จบชีวิตของตนเอง

ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำการุณยฆาต (Euthanasia) โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยร้องขอให้จบชีวิตตนเองหรือเร่งการตายของตนเองให้เร็วขึ้นด้วยการนำสารหรือวัตถุอื่น ๆ เข้าสู่ร่างกายในลักษณะของการุณยฆาตเชิงรุก (active euthanasia) ซึ่งการการุณยฆาตในลักษณะดังกล่าวถึงไม่สามารถทำได้และผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้และไม่ประสงค์ที่จะให้ยื้อชีวิตด้วยวิธีการทางสาธารณสุขหรือต้องการยุติการรักษาเพื่อไม่ให้ตนเองต้องเจ็บปวดต่อไป สามารถทำ “หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย” ตาม มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติ ดังนี้


"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"


สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นั้น มีการขยายความเพิ่มเติมใน “กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553” ของกระทรวงสาธารณสุข


จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจกล่าวได้โดยสรุป คือ
  • บุคคลที่มีสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย ได้แก่ บุคคลที่ (1) อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต คือ มีภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้และผู้ประกอบเวชกรรมที่รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยตามาตรฐานทางการแพทย์แล้วว่า ภาวะที่เป็นอยู่จะนำไปสู่การตายในระยะเวลาอันใกล้หรืออาจนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร ปราศจากการตอบสนองว่าสามารถรับรู้ได้ มีเพียงปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเท่านั้น หรือ (2) มีความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจจากอาการบาดเจ็บหรืออาการเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย
  • การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย ต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทําหนังสือแสดงเจตนา พยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย โดยมีรายละเอียดตามกฎกระทรวงฯเช่น ชื่อของผู้จัดทำหนังสือแสดงเจตนา บริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการให้ดำเนินการ รวมไปถึงความประสงค์อื่น ๆ โดยการทำหนังสือแสดงเจตนานี้จะทำ ณ สถานที่ใดก็ได้ และผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือแสดงเจตนาเมื่อใดก็ได้ และเมื่อผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเข้ารับบริการทางสาธารณสุขให้ส่งมอบหนังสือนั้นแก่บุคคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลดังกล่าว
  • ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของผู้จัดทําหนังสือแสดงเจตนาแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดระบบ e-living will เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้ายทั้งในระบบและนอกบริการสาธารณสุข และเพื่อให้สถานพยาบาลสามารถทำการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่อง living will ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาร่วมกัน เพื่อที่จะได้ให้การดูแลรักษาตรงตามเจตนาของผู้จัดทำหนังสือได้อีกด้วย

เมื่อทำหนังสือแสดงเจตนาแล้ว ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนายังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายได้โดยไม่เกิดความทุกข์ทรมานและจะทำให้จากไปอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลบรรเทาโรคตามอาการ (symptom control) การบรรเทาความเจ็บปวด (pain relief) รวมไปถึงการได้รับการดูแลทางจิตใจด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการรักษาอย่างมีมนุษยธรรม โดยต้องมีการทำความเข้าใจกับญาติของผู้ป่วยให้เข้าใจสถานการณ์ ความต้องการของผู้ป่วย และได้วางแผนในการดูแลร่วมกันอีกด้วย

แนวทางในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดการตายในระยะท้าย

  • คู่มือประกอบการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living will) สำหรับประชาชน: https://w1.med.cmu.ac.th/family/wp-content/uploads/2019/08/LW-Pt.pdf
  • สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ มาตรา 12 (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) : https://www.nationalhealth.or.th/th/rights/Article_12
  • รู้ให้รอบตอบเรื่องมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/upload_files/LW_Law_12.pdf
  • ทำความรู้จักกับ e-Living Will และขั้นตอนการสมัครและใช้งาน e-Livingwill สำหรับประชาชนทั่วไปและสถานพยาบาล https://www.nationalhealth.or.th/th/e-LivingWill

อ้างอิง
1. พระราชบัญญัติสาธารณสุขแห่งชาติ พ.ศ. 2550
2. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553
3. right to die https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/right-to-die
4. หลักการมาตรา 12 ของพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิที่จะขอตายตามธรรมชาติ (แสวง บุญเฉลิมวิภาส) https://www.lpch.go.th/lpch/uploads/20160711083642427762.pdf
5. สธ. - สช. - สภาการพยาบาล ปูพรมนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะ ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ทั่วประเทศ https://www.nationalhealth.or.th/en/node/1407
6. ‘การตายดี’ สิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึง https://www.nationalhealth.or.th/en/node/1260

แหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม


ดวงพร เพชรคง, (ม.ป.ป.). ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต (Living Will). https://cdc.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=1786
ไพศาลย์ ลิ้มสถิตย์, (2552) สิทธิปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ. https://dunlaphaha.coj.go.th/upload/2552/3/2552_3_a13.pdf
อนัญพร พูลนิติพร, (ม.ป.ป.). หลักสิทธิมนุษยชนกับสิทธิการตายในสังคมไทย https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1531
อารยา เนื่องจํานงค์, (2560). ความยินยอมกับความรับผิดทางอาญา: ศึกษากรณีการุณยฆาต. https://digital_collect.lib.buu.ac.th/dcms/files/57920819.pdf
Metha Trikasemmart, et al., (2024). Validation of the Thai translation of the attitudes toward euthanasia scale. Heliyon. Volume 10, Issue 22, 30 November 2024, e40271. https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2024.e40271
Wanawanakorn, K., & Wiriyanupong, S. . (2024). Euthanasia: The appropriate form of law for Thai society. Public Health Policy and Laws Journal, 10(2), 169–181. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/journal_law/article/view/270156
Chutarattanakul L, Jarusukthavorn V, Dejkriengkraikul N, Oo MZ, Tint SS, Angkurawaranon C, Wiwatkunupakarn N., (2024). Misconception between palliative care and euthanasia among Thai general practitioners: a cross-sectional study. BMC Palliat Care. 2024 Apr 11;23(1):96. doi: 10.1186/s12904-024-01430-6. PMID: 38600512; PMCID: PMC11007896. https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC11007896/pdf/12904_2024_Article_1430.pdf

บทความโดย ปิยอร เปลี่ยนผดุง (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา)

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
School of Law
University of Phayao
Address:
อาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) 19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000
โทรศัพท์ 0832566446,054-466-666
ต่อ 1614 งานธุรการ,งานแผนงาน,งานพัสดุ
ต่อ 1618 งานการเงินและบัญชี
ต่อ 1137 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อ 1851 งานกิจการนิสิต,งานบุคลากร
ต่อ 1852 งานวิชาการ
ต่อ 1619 คลินิกกฎหมาย,งานวิจัยและบริการวิชาการ
เว็บไซต์: https://law.up.ac.th/
YouTube: https://www.youtube.com/@LawUP
Tiktok : https://www.tiktok.com/@lawup2023
อีเมล์ law.up@up.ac.th


Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน