TikTok: แพลตฟอร์มการสื่อสารและการสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล
โลกปัจจุบันได้มีการเคลื่อนไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาวการณ์ต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีความเป็นพลวัตสูง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมวัฒนธรรม ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน แพลตฟอร์มการสื่อสารต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน เช่น Facebook, Twitter (X), Instagram, Line รวมถึง TikTok ด้วย การบริโภคข้อมูลข่าวสารจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะในสื่อแบบดั้งเดิมอีกต่อไป ช่องทางในการรับชมผ่านสื่อต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น คนในสังคมจึงสามารถเลือกรับชมข่าวสารได้ตามความต้องการทุกสถานที่ (Every Where) และทุกเวลา (Every Time
TikTok หรือ Douyin (โต่วอิน) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการสร้างและเผยแพร่วิดีโอความยาวสั้น ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ มีจุดเริ่มต้นจากความคิดของวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวจีน ชื่อว่า Zhang Yiming ของบริษัท ByteDance โดยเปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 2016 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า TikTok จะเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตมาจากธุรกิจ แต่จากรายงานภูมิทัศน์สื่อไทย (Thailand Media Landscape 2023-2024) พบว่า จำนวนผู้ใช้ TikTok ทั้งในไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2566 ชี้ว่ายอดผู้ใช้ TikTok ทั่วโลกอยู่ที่ 1.218 พันล้านราย ส่วนจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยอยู่ที่ 40.28 ล้านราย และจากรายงานของ Reuters Institute ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่ใช้งาน TikTok ในการติดตามข่าวสารมากที่สุดในโลก (Dataxet Limited, 2566)
TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมบนสื่อสังคม (Social Media) อย่างมากทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดย TikTok เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ผ่านวิดีโอสั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเต้น การร้องเพลง การเล่าเรื่อง หรือการแสดง ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ รวมถึงการเรียนรู้ผ่านเนื้อหาขนาดสั้น TikTok จึงเป็นแหล่งข้อมูลและการเรียนรู้ในวิถีใหม่ ผู้คนสามารถ Upskill และ Reskill ทักษะต่าง ๆ ข้อมูลทางวิชาการ หรือแม้แต่เคล็ดลับในชีวิตประจำวัน ผ่านเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน TikTok จึงมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งทำให้การรับข้อมูลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
TikTok กลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมทั่วไป ตลอดจนยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างรายได้ โดยการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ ใช้ในการโปรโมตสินค้าและบริการ โดยอาศัยความนิยมของผู้ใช้ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เปิดโอกาสให้สร้างรายได้ผ่านการโฆษณา การสนับสนุนจากแบรนด์ หรือการขายสินค้า การตลาดแบบ Affiliate ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์บางคนอาจเข้าร่วมโปรแกรม Affiliate ซึ่งได้รับค่าคอมมิชชันเมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการที่แชร์ลิงก์บน TikTok ผ่านการขายสินค้าของตนเอง หรือว่า TikTok Shop โดยผู้ใช้สามารถเพิ่มลิงก์ไปยังสินค้าที่ขายได้ในวิดีโอ นอกจากสินค้าในรูปแบบผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถขายสินค้าในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น คอร์สออนไลน์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือเทมเพลตการออกแบบต่าง ๆ และการถ่ายทอดสด (Live) ซึ่งจะเป็นการได้รับของขวัญจากผู้ชม (Virtual Gifts) ซึ่งครีเอเตอร์สามารถแปลงของขวัญเหล่านั้นเป็นเงินจริงได้
จากข้อมูลที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า TikTok เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสื่อสังคมที่ได้รับความนิยมจากสังคม ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดความนิยม มาสู่การติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่สำคัญในชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดรายได้จากการใช้งานอีกด้วย หากสนใจรับฟังเรื่องราวและฝึกทักษะการใช้งาน TikTok ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับท่าน สามารถติดต่อบุคลากรที่มีความสามารถได้ที่งานสื่อสารองค์กร กองกลาง มหาวิทยาลัยพะเยา
เอกสารอ้างอิง
Dataxet Limited. (2566). ภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566-2567. https://www.dataxet.co/media- landscape/2024-th
บทความโดย ณรงค์ วงค์ไชย งานสื่อสารองค์กร กองกลาง มหาวิทยาลัยพะเยา