กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 4: สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อไปของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของไทย

28/6/2567 13:47:55น. 1988
กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 4: สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อไปของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของไทย

กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 4:
สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อไปของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของไทย


หลังจากการเดินทางอันยาวนานกว่ายี่สิบปี ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือ “ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ” ก็ผ่านการพิจารณาวาระสามของวุฒิสภาในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็น “ชัยชนะด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน” ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการรับรองสิทธิในการสร้างครอบครัวตามกฎหมายแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันหรือประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2567


ในตอนสุดท้ายของ “กฎหมายใน Pride Month” โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จะได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาให้ทำความรู้จักกันในเบื้องต้น และเนื่องจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เราจึงจะพาไปสำรวจกันด้วยว่า นอกจากประเด็นการสมรสเพศเดียวกันแล้ว ยังมีการวิจัยทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเท่าเทียมทางเพศประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอยู่อีกบ้าง และมีร่างกฎหมายอะไรที่อาจมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติของไทยต่อไปในอนาคต


สาระสำคัญของ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” โดยหลักการแล้ว พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมเป็นการแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 ว่าด้วยการสมรส โดยเฉพาะคำที่มีการระบุเพศชายและหญิงให้เป็นคำที่สามารถใช้ได้กับบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และมีการแก้ไขในส่วนของบรรพ 1 หลักทั่วไปในประเด็นเกี่ยวกับภูมิลำเนาของคู่สมรสและอายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส รวมถึงบรรพ 6 ว่าด้วยมรดกด้วยเล็กน้อย


ประเด็นหลัก 3 ประเด็นที่มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรสจากเดิมเป็นสมรสเท่าเทียม ได้แก่ประเด็นต่อไปนี้ (หมายเหตุ: อ่านรายงานของกรรมาธิการและร่างกฎหมายฉบับเต็มได้ที่นี่: https://shorturl.at/UkEAJ)


แก้ไขคำที่มีการระบุเพศชายและหญิงให้เป็นคำที่สามารถใช้ได้กับบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใด: มีการแก้ไขจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” และ “ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น” ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการหมั้น แก้ไขคำว่า “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส” โดยการเปลี่ยนแปลงคำเรียกเหล่านี้ ทำให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยบุคคลไม่ว่าเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็สามารถขอหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การที่ชายเป็นฝ่ายหมั้นหญิงตามบทบัญญัติเดิมอีกต่อไป

แก้ไขอายุขั้นต่ำของบุคคลที่จะทำการหมั้นหรือสมรสได้จากเดิม 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์: การแก้ไขอายุบุคคลที่จะหมั้นหรือสมรสกันทั้งสองฝ่ายให้สามารถกระทำการหมั้นหรือสมรสได้เมื่อมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากอายุเดิมที่กำหนดไว้ที่ 17 ปี เป็นการแก้ไขช่วงอายุของบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ของสหประชาชาติที่กำหนดนิยามคำว่า “เด็ก” เอาไว้ว่าเป็น “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี” แต่ทั้งนี้ กฎหมายยังคงเปิดช่องว่างในกรณีมีเหตุอันสมควร อาจร้องต่อศาลให้อนุญาตให้ทำการสมรสก่อนก็ได้


แก้ไขเหตุฟ้องหย่าและการเรียกค่าทดแทนในบางประเด็นให้สอดคล้องกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน: เช่น ในเหตุฟ้องหย่าเนื่องจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรส (adultery) และกรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ในกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้เพิ่มกรณี ‘กระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่’ ไปด้วย เนื่องจากแนวคำพิพากษาของศาลที่ผ่านมาตีความคำว่าการร่วมประเวณี โดยจำกัดเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการพิจารณาเรื่องขอบเขตของคำว่า “การกระทำเพื่อสนองความใคร่” นี้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่มีความสัมพันธ์นอกสมรสกับคู่สมรสจาก “ชู้สาว” เป็น “ชู้” เท่านั้น เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายสมรสจะผ่านและรอการนำมาบังคับใช้และจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องในอนาคต แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสิทธิในครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเด็นอื่น ๆ ก็ยังคงรอการแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดที่ว่าด้วยบิดา มารดา และบุตร เนื่องจากในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนั้น กรรมาธิการเสียงข้างมากให้ความเห็นว่า การแก้ไขคำว่า “บิดา มารดา” ซึ่งเป็นคำระบุเพศที่จำกัดเฉพาะเพศชายและหญิงเป็นคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ที่ภาคประชาชนเสนอโดยเทียบเคียงกับคำว่า parent ที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใด อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ใช้คำว่า “บิดา มารดา” ด้วย จึงยังไม่ได้นำมาพิจารณาลงมติพร้อมกับหมวดว่าด้วยการสมรส ซึ่งในประเด็นนี้ยังต้องมีการติดตามต่อไปในอนาคตว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือดำเนินการในทิศทางใด


ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเท่าเทียมทางเพศอื่น ๆ และงานวิจัยแนะนำในบางประเด็น และเป็นเรื่องที่มีร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาในเวลานี้ นอกจากเรื่องครอบครัวแล้ว ยังมีเรื่อง “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสถานะในทางกฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือความรับรู้เกี่ยวกับตัวตนทางเพศที่บุคคลนั้นมีต่อตนเอง (gender recognition)


ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายไทยที่มีเนื้อหาเป็นการคุ้มครองและรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง โดยเฉพาะในสามกลุ่มหลัก ได้แก่ บุคคลข้ามเพศ (transgender) บุคคล Intersex และบุคคลที่เป็น Non-binary ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แต่ในระบบสองเพศ (binary) ว่าจะต้องเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น และโดยสถานการณ์ในปัจจุบัน กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของสองเพศยังคงถูกเลือกปฏิบัติและยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศออกมาด้วยกันจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือภาคประชาชน โดยมีร่างกฎหมายเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศออกมาด้วยกัน 3 ฉบับ ได้แก่

1. ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT)
2. ร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ซึ่งผลักดันโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ
3. ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคก้าวไกลนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร


สาระสำคัญในภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศนี้ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การกำหนดเรื่องการระบุคำหน้านาม การรับรองเพศ Intersex หรือภาวะเพศกำกวม รวมไปถึงสิทธิหน้าที่ของบุคคลที่ผ่านกระบวนการรับรองเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ เช่น หน้าที่ของบุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชายที่ข้ามเพศไปเป็นหญิงและประสงค์จะใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพที่เป็นหญิงในการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ ที่มีการกำหนดหน้าที่ของบุคคลชายหญิงเอาไว้ต่างกัน เป็นต้น


แม้ว่าในรายละเอียดของร่างกฎหมายแต่ละฉบับจะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่หัวใจสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศหรือการรับรองเพศนี้เป็นเช่นเดียวกัน คือ บุคคลต้องได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย เพื่อที่จะมีอิสระในการเป็นตัวของตัวเองและพัฒนาตนเองอย่างสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ รวมไปถึงการรับรองทางเพศนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของบุคคลนั้นเองโดยไม่ถูกบังคับทางการแพทย์หรือมีผู้อื่นตัดสินใจให้โดยที่บุคคลนั้นไม่ยินยอมหรือไม่ได้รับข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ซึ่งประเด็นทั้งสองนี้เป็นหลักการสำคัญที่ปรากฏอยู่ในหลักการยอกยาการ์ตาและหลักการยอกยาการ์ตาบวกสิบ (YP+10) ด้วย


ในทางวิชาการเองก็ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับทิศทางของการรับรองเพศในทางกฎหมายเอาไว้หลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายชื่องานวิจัยบางส่วนที่เราจะนำเสนอไว้ในตอนท้ายของบทความกฎหมายใน Pride Month ของปีนี้


แน่นอนว่า เส้นทางสู่ความเท่าเทียมทางกฎหมายของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องไปต่อ และเราเชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าและสร้างความเป็นธรรมให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายในทุกมิติมากขึ้นตามหลักนิติธรรม ที่สำคัญ แม้ Pride Month จะจบลงแล้ว แต่ความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ยังคงต้องได้รับการเคารพ และการสร้างความยุติธรรมแก่ทุกคนก็ยังคงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจในทุกวัน ไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็ตาม



บทความและรายงานเกี่ยวกับกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่น่าสนใจ

1. สรุปสาระสำคัญ (ร่าง) พระราชบัญญัติอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล พ.ศ...... https://www.facebook.com/messages/t/1643093059310211
2. การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย: การทบทวนกฎหมายและนโยบาย https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/migration/th/a25677aa2436e514f812698dae1242a285922bb5cc8feb1fde38d6e860adff92.pdf
3. ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 48 : “ร่าง พรบ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ” https://shorturl.at/kFQiT
4. เปิดข้อเสนอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-คำนำหน้า จากร่างกฎหมาย 3 ฉบับ https://www.ilaw.or.th/articles/6232
5. แนวทางการรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศของประเทศไทย ผ่านมุมมองของกฎหมายต่างประเทศ https://so06.tci-thaijo.org/index.php/SLJ/article/download/259918/175399/987529


อ้างอิง
1. รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร.
2. ไชยพัฒน์ ธรรมชุตินันท์, (2024). ‘สมรสเท่าเทียม’ ก้าวสำคัญกฎหมายครอบครัวไทย: สาระสำคัญและเรื่องที่ยังไปไม่ถึง. World 101. https://www.the101.world/marriage-equality-bill/
3. Pipatpong, (2024). สรุปข้อมูล “สมรสเท่าเทียม” อยู่ตรงไหน สนับสนุนเท่าไหร่ ผ่านแล้วได้อะไร. Workpoint Today. https://workpointtoday.com/lgbt-221124/
4. Sarah Newey, (2024). Thailand approves landmark same sex marriage equality law. The Telegraph. https://www.telegraph.co.uk/global-health/climate-and-people/thailand-approves-landmark-same-sex-marriage-equality-law/
5. กองบรรณาธิการ, (2024). เส้นทาง 23 ปี กว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ ‘ทุกเพศ’ เท่ากัน. Thairath Plus. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104318
6. บีบีซีไทย, (2024). วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ส่งไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนมี กม. แต่งงานบุคคลเพศเดียวกัน. BBC News Thai. https://www.bbc.com/thai/articles/c4nnjd5v2zgo
7. กัญมณฑ์ แต้มวิโรจน์, (2024). ‘สมรสเท่าเทียม’ อาจยังดีไม่พอ เพราะสิทธิในการสร้างครอบครัว ยังไม่รองรับความรักที่หลากหลาย. Thairath Plus. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104340


อ่านบทความตอนที่ผ่านมา
กฎหมายใน Pride Month 1: SOGIESC https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32081
กฎหมายใน Pride Month 2: หลักการยอกยาการ์ตา https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32180
กฎหมายใน Pride Month 3: ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32213




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
28/6/2567 13:47:55น. 1988
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน