ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหัวประชากรของมหาวิทยาลัยพะเยา
Carbon Footprint Intensity of University of Phayao
ความสำคัญของก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดภาวะโลกร้อน (Greenhouse Effect) โดยก๊าซเรือนกระจกนั้นสามารถเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือ เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยพะเยาถือเป็นองค์กรอุดมศึกษามีความมุ่งมั่นจึงได้จัดทำโครงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) ก่อน จากนั้นเมื่อทราบค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรแล้วว่าเกิดจากกิจกรรมใด องค์กรจะได้ดำเนินการลดได้อย่างถูกต้องและตรงจุด เพื่อให้การลดนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ก็เป็นข้อกำหนดที่สำคัญข้อหนึ่งในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก (UI Green Metric) ที่มุ่งเน้นให้องค์กรที่เป็นสถาบันการศึกษาพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนและยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ดังแสดงในรูป
ขอบเขตการประเมิน CFO ของมหาวิทยาลัยพะเยาครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ซึ่งก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรจะถูกรวมรวมและแสดงแยกตามขอบเขต (Scope) ออกเป็น 3 ขอบเขต ได้แก่
Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ประกอบด้วยกิจกรรม การเผาไหม้อยู่กับที่ (เช่น หม้อไอน้ำ เครื่องปั่นไฟ) การเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ (เช่น ยานพาหนะ) การรั่วไหล (เช่น สารทำความเย็น ระบบบำบัดของเสีย)
Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ประกอบด้วยกิจกรรม การใช้พลังงานไฟฟ้า
Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ประกอบด้วย การได้มาซึ่งเชื้อเพลิงและพลังงานใน Scope 1 และ Scope 2
ในการปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหัวประชากรของมหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินการประเมินตามขั้นตอน 3 ขั้นตอน ดังนี้
ข้อมูลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยพะเยาในปี 2565 พบว่า กิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง โดยมีค่าการปล่อยเท่ากับ 6,173.33 tonCO2e หรือคิดเป็นร้อยละ 53.15
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแยกรายขอบเขตแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุด ซึ่งค่าดังกล่าวจะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกับกับองค์กร/หน่วยงานราชการทั่วไปที่มีกิจกรรมส่วนใหญ่มากจากการใช้ไฟฟ้า
หากลองคิดค่าความหนาแน่นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากร หรือ ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหัวประชากร ของมหาวิทยาลัยพะเยาในปี 2565 โดยค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยพะเยาในปี 2565 เท่ากับ 11,614 tonCO2e และมีจำนวนประชากร (นิสิต บุคลากรสายวิชาการ บุคลากรสายสนับสนุน) ที่ดำเนินกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทั้งหมดเท่ากับ 22,310 คน จะทำให้ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหัวประชากร ของมหาวิทยาลัยพะเยาในปี 2565 มีค่าเท่ากับ 0.5206 tonCO2e/คน
แนวทางในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อหัวประชากร
ผลการประเมินชี้ชัดเจนว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยพะเยาในปี 2565 มีสัดส่วนมาจากการใช้ไฟฟ้าจากสายส่งสูงถึง 65.03 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าในปี 2565 นั้น จะมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบ Solar rooftop แล้ว (โดยระบบ Solar rooftop ขนาด 3 เมกะวัตต์ เดินระบบในเดือน มิถุนายน 2565) คาดว่า ในปี 2566 การใช้ไฟฟ้าจะยังคงเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดสำหรับมหาวิทยาลัยพะเยา
ดังนั้น แนวทางสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับมหาวิทยาลัยพะเยา สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
1) การลดการใช้ไฟฟ้าขององค์กร ด้วยการรณรงค์ให้คณะ/ส่วนงาน และนิสิต ภายในองค์กรใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบายการจัดการพลังงานที่ตรงเป้าหมาย
2) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้ง Solar rooftop เพิ่มเติม เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเท่านั้น ยังจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมหาวิทยาลัยลดลง ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยพะเยาก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป
.....................................................................................................................
อ้างอิง
https://greenmetric.ui.ac.id/publications/guidelines/2023/english “Guideline UI Green Metric World University Rankings 2023”
http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/admin/upfiles/download/ts_73d0f28555.pdf “ข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร” องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พิมพ์ครั้งที่ 8 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 6, กรกฎาคม 2565)