สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

20/7/2565 23:05:34น. 3745
สันติภาพ ความยุติธรรม  และสถาบันที่เข้มแข็ง
peace, justice and strong institutions

           

         สวัสดีครับทุกท่าน งานเขียนชิ้นนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จะขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับ SDGs:16 peace, justice and strong institutions (สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย

            ลำดับแรกเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กันก่อนครับ SDGs ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมโลก เพราะโดยปกติการพัฒนาในระดับสากลนั้น ประเทศต่าง ๆ มักจะมีการทำความตกลงร่วมกันโดยการกำหนดประเด็นที่แต่ละประเทศต้องการพัฒนาและมีความผูกพันต่อกัน โดยการผลักดันให้ข้อตกลงเหล่านั้นมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดสภาพบังคับและมีผลผูกพันธ์ระหว่างประเทศที่ลงนาม เช่น สนธิสัญญา อนุสัญญา เป็นต้น แต่ SDGs เป็นเพียง “การให้คำมั่นของประเทศสมาชิก” เป็นมั่นที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่มีบทลงโทษทางระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าข้อดีที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ตกลงเข้าร่วมนำแนวทาง SDGs ไปปรับใช้โดยที่ไม่ต้องมีข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบทางกฎหมาย

            SDGs ได้ให้การรับรองในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 เป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศผลักดันให้โลกเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาเป็นระยะเวลา 15 ปี จนปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งครอบคลุมประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลอัน เป็นสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ไม่ทำลายแหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

           เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง SDGs มีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของแต่ละประเทศ และมีทางเลือกที่เหมาะสมในการปรับปรุงชีวิตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน



            โดยองค์กรสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้จัดกลุ่ม SDGs 17 เป้าหมายดังกล่าวออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งเรียกว่า 5 Ps ประกอบด้วย

  •            People (มิติด้านสังคม) ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1 ถึง เป้าหมายที่ 5
  •            Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ) ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึง เป้าหมายที่ 11
  •            Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม) ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6 เป้าหมายที่ 12 ถึง เป้าหมายที่ 15
  •            Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน) ครอบคลุมเป้าหมายที่ 16
  •            Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา) ครอบคลุมเป้าหมายที่ 17

            ปัจจุบันมีจำนวนประเทศที่เข้าร่วม 196 ประเทศ และได้มีการนำหลักการ SDGs ไปปรับใช้โดยการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ รวมถึงในระดับภูมิภาคด้วย เช่น กลุ่มประเทศอาเซียนได้นำเอาแนวคิดและประเด็นสำคัญของ SDGs มาบรรจุไว้ในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) เป็นต้น สำหรับประเทศไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับ SDGs โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และมีการมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบในประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องโดยการนำเป้าประสงค์ และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ใน SDGs ไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนงานของหน่วยงานเพื่อให้มีการผลักดันสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม


           

         สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 (SDGs 16) มักรู้จักกันในชื่อเป้าหมาย “สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง” (peace, justice and strong institutions) ซึ่งเป็นการสรุปจาก SDGs 16 Promote peaceful and inclusive societies for sustainable development, provide access to justice for all and build effective, accountable and inclusive institutions at all levels ซึ่งหมายถึง เป้าหมายในการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ

            SDGs 16 ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมที่สงบสุขซึ่งจะต้องมีความมั่นคง มีสันติภาพ โดยที่ประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและมีความเท่าเทียมกันภายใต้หลัก “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) การมีกฎหมายและมีระบบการปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม (The Rule Of Law) และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีเป้ามหายที่จะตัดวงจรความขัดแย้ง ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และการใช้ความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน โดยการสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีความครอบคลุมและมีส่วนร่วมในทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเชิงสถาบันให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

            โดย SDGs 16 มีเป้าประสงค์ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การลดความรุนแรงทุกรูปแบบ (16.1) ยุติการข่มเหง การหาประโยชน์ และความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก (16.2), นิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม (16.3), ลดการลักลอบค้าอาวุธ การฟอกเงิน และต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรม (16.4), ลดการทุจริตคอรัปชั่น (16.5) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส (16.6) มีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (16.7), เพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในองค์กรโลกบาล (16.8), เอกลักษณ์ทางกฎหมายสำหรับทุกคน (16.9) และการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (16.10) โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ 1) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม 2) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


SDGs

         

           “หลักนิติธรรม (the rule of law)” กับ SDGs
           ประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อน SDGs เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 คือ การส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวมมีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับนั้น มีเป้าหมายย่อยที่สำคัญ คือ เป้าหมายย่อยที่ 16.3 ซึ่งได้กำหนดให้ ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน (Promote the rule of law at the national and international levels and ensure equal access to justice for all)

           “หลักนิติธรรม” เป็นหลัการที่ได้ยอมรับเป็นเป้าหมายที่เปรียบเสมือนข้อตกลงร่วมกันที่ทุกประเทศจะผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลักนิติธรรมจึงสัมพันธ์กับการพัฒนที่ยั่งยืน และเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่นทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนา หากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ขาดความยุติธรรม หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ย่อทำให้การพัฒนาสังคมหรือประเทศย่อมไม่สำเร็จ หรือหากประชาชนในสังคมไม่เชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สันติภาพก็จะไม่เกิดขึ้นได้เช่นกัน





ผศ.อุดม งามเมืองสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ (เรียบเรียบ และข้อมูลอ้างอิง)

  • สํานักนายสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ https://sdgs.nesdc.go.th/
  • โครงการพัฒนาแห่งประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) https://www.undp.org/




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :   -   
ข้อมูล/ข่าว :    ผศ.อุดม งามเมืองสกุล   
เพิ่มข่าวโดย :   nantawat.mu@up.ac.th   
20/7/2565 23:05:34น. 3745
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน