เรื่องเล่าจากชุมชน

2/6/2565 15:42:14น. 1718
เรื่องเล่าจากชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา

         สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้ การสร้างความรู้ การเผยแพร่ความรู้


         โดยหลักการที่ว่า เรื่องของเรา ไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา เรื่องของเราหากเราไม่เล่าแล้วหวังจะให้สื่อมวลชนหรือสำนักข่าวกระแสหลักระดับประเทศมาทำข่าวให้นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะสำนักข่าวใหญ่ ๆ มักจะเลือกทำข่าวในวงกว้าง ข่าวที่มีผลกระทบในระดับประเทศ ส่วนข่าวท้องถิ่นหรือข่าวในชุมชนของเรา หากเราต้องการส่งเสียงไปยังผู้อื่น เราต้องทำข่าวของเราเอง เราต้องเล่าเรื่องของเรา


          เพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบ เสียงของเราจะมีพลังมากขึ้นถ้าเราสื่อสารผ่านโลกดิจิทัล เพราะการสื่อสารในโลกดิจิทัลปราศจากข้อจำกัดทางด้านเวลา สถานที่ เรื่องที่เราต้องการสื่อสารอาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนส่วนรวม


          เรามีหลักสูตรจัดอบรม “การสร้างสื่อด้วยโทรศัพท์มือถือ (smart phone)”เพื่อบริการวิชาการสู่ชุมชนหลายหลักสูตร มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่ม เช่น หลักสูตรสำหรับผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (สมาชิกอบต.) หรือหลักสูตรสำหรับคุณครูในโรงเรียน หลักสูตรสำหรับนิสิต/ นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตลอดจนหลักสูตรสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น


เรื่องเล่าจากชุมชน
เรื่องเล่าจากชุมชน


          รายละเอียดการฝึกอบรมแต่ละหลักสูตรมีความแตกต่างกันตามความต้องการของผู้เข้าอบรมเป็นหลัก อาทิ หลักสูตรการใช้สื่อเพื่อเสริมการเรียนการสอนสำหรับคุณครูและนักเรียน หลักสูตรนักข่าวพลเมือง ให้บริการสำหรับผู้นำในชุมชน ครูในโรงเรียนตลอดจนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ส่วนหลักสูตรนักข่าวพลเมืองน้อยจัดสำหรับผู้เข้าอบรมที่เป็นนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา เป็นต้น


          ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน (CMLC) คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ และหากประเด็นใดที่มีความท้าทายและมีวิธีการเล่าเรื่องน่าสนใจ สถานีโทรทัศน์ไทย PBS จะพิจารณานำข่าวนั้นออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและให้เห็นพลังของการสื่อสาร


          ความรู้ในทางทฤษฎีที่เราจัดให้กับผู้เข้าอบรมคือ การคิดประเด็นเรื่องเล่า กระบวนการในการเล่าเรื่อง วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจและมีผลกระทบ สร้างผลกระทบกับสังคมได้ ส่วนภาคปฏิบัติเราสอนเทคนิคการถ่ายภาพนิ่ง และภาพวิดีโออย่างถูกวิธีเพื่อนำมาตัดต่อ โปรแกรมยอดนิยมสำหรับการตัดต่อที่จัดบริการให้กับผู้เข้าอบรมคือ Kinemaster แต่บางกรณีไม่สามารถจัดอบรมหลักสูตรโปรแกรม Kinemaster ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านอุปกรณ์ของผู้เข้าอบรมจึงปรับเปลี่ยนโปรแกรมที่สอนตามสถานการณ์ เช่น ติ๊กต๊อก และ แคบคัด


          การจัดโครงการบริการชุมชนที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ ได้จัดโครงการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนในอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ส่วนในจังหวัดพะเยา ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอเชียงคำ และอำเภอปง เราจัดอบรมหลายครั้งในเขตอำเภอปง จังหวัดพะเยา เนื่องจากมีการติดต่อประสานงานการขอรับการฝึกอบรมจากผู้บริหารงานในโรงเรียนในเขตอำเภอปง บางโรงเรียนจัดอบรมเฉพาะครู บางโรงเรียนจัดอบรมเฉพาะนักเรียน และบางโรงเรียนจัดอบรมทั้งครูและนักเรียน แต่จัดกันคนละครั้งกัน


         นอกจากนี้ในช่วงปีก่อนหน้าซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก เราได้จัดการอบรมในรูปแบบออนไลน์ ให้กับหลายกลุ่มคน เช่น นักกฎหมาย สมาชิกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีทุ่งสง อำเภอทุ่งส่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น


          ตัวอย่างของโรงเรียนที่เราจัดฝึกอบรมให้ได้แก่ โรงเรียนปงรัชดาภิเษก โรงเรียนอนุบาลปง (บ้านนาปรัง) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 46 โรงเรียนบ้านผา ตั้งโรงเรียนบ้านนาอ้อม โรงเรียนบ้านใหม่พัฒนา โรงเรียนบ้านขุนกำลัง โรงเรียนปางถ้ำ ฯลฯ ส่วนการจัดอบรมให้กับกลุ่มคนที่อยู่จังหวัดน่าน เห็นผลที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่กลุ่มผู้เข้าอบรมสามารถรวมตัวกันก่อตั้งเป็นสำนักข่าวเมืองสวดชาแนล ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน เพื่อต้องการสื่อสารประเด็นทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนในอำเภอบ้านหลวง ได้รับทราบผ่านเครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน


          นอกจากนี้เรายังมีความร่วมมือกับสถานีฝุ่น (WEVO) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข่าวประเด็นเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว เราจัดการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของสถานีและสอนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ ทำให้สถานีฝุ่นสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการนี้ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 เนื่องจากหมดช่วงภาวะฤดูหนาวซึ่งฝุ่น PM 2.5 เบาบางลงไป ซึ่งในปีต่อไปก็อาจจะมีโครงการเช่นนี้อีก


         จากการประเมินผลการฝึกอบรมทุกครั้งที่ผ่านมา ข้อเสนอแนะหนึ่งที่ได้จากผู้เข้ารับการอบรมคืออยากให้มาจัดกิจกรรมอีก มีความสนุกสนาน ได้ความรู้ใหม่ ได้เรียนรู้กระบวนการเล่าเรื่อง รวมถึงเทคนิคการการตัดต่อคลิปวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือ เราได้เห็นแววตาของผู้เข้าอบรมทำให้เรามีกำลังใจที่จะฝึกอบรมบ่อยครั้ง เพราะผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ให้ความสนใจและอยากจะฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาฝีมือและทักษะในการใช้โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone)


        เรื่องของเราไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา เรื่องของท้องถิ่นเราไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา เรื่องของชุมชนเราไม่มีใครรู้ดีเท่าเรา ดังนั้นเราควรเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องรอให้สื่อกระแสหลักหรือรัฐบาลมาดำเนินการช่วยเหลือ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ก่อนที่จะรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือรอความช่วยเหลือจากองค์กรสาธารณะอื่น






facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   nantawat.mu@up.ac.th   
2/6/2565 15:42:14น. 1718
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน