การจัดการขยะชุมชนให้เป็น “Zero waste” มีจุด
มุ่งหมายให้ขยะเหลือกำจัดขั้นสุดท้ายโดยการฝังกลบในหลุม
ฝังกลบให้น้อยที่สุด จนกระทั่งเป็นศูนย์
การจะจัดการให้ขยะเหลือศูนย์ได้นั้น ต้องอาศัยการมี
ส่วนร่วมทั้งในส่วน “ต้นทาง” ที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะ
“กลางทาง” ผู้เก็บขนขยะไปสถานที่กำจัดขยะ และ
“ปลายทาง” สถานที่กำจัดขยะ
หลักการ 3R เป็นวิธีการที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อได้รับความร่วมมือจาก “ต้นทาง” หรือชุมชนบ้านเรือน
ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะนั้นเอง โดยจำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่
การซื้อสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดขยะหรือก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด
หากเลี่ยงไม่ได้ ซื้อสินค้ามาแล้วเมื่อจะทิ้งเป็นขยะก็ต้องพิจารณา
ก่อนว่าขยะนั้นสามารถใช้ซ้ำหรือเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ได้หรือไม่
Reduce (ลดการเกิดขยะ) เช่น การซื้อสินค้าแบบรีฟิว
เพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ และการใช้ถุงผ้าใส่สินค้าแทน
ถุงพลาสติก
Reuse (การใช้ซ้ำ) ทั้งการใช้ซ้ำแบบไม่เปลี่ยนวัตถุ
ประสงค์การใช้งาน (เช่น การนำกล่องข้าวพลาสติกมาล้างแล้ว
ใช้ใส่อาหารหรือสิ่งของซ้ำ) และการใช้ซ้ำแบบเปลี่ยนวัตถุประสงค์
การใช้งานโดยการดัดแปลงหรือประดิษฐ์ (เช่น การนำยาง
รถยนต์เก่ามาทำเป็นถังขยะ)
Recycle (การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่) เป็นการนำขยะ
(พลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ) มารีไซเคิลกลับเป็นวัตถุดิบ
สำหรับผลิตสินค้าใหม่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการ
ผลิตสินค้า
การจัดการขยะแบบบูรณาการ (Integrated Waste
Management: IWM) เป็นการจัดการขยะ “ปลายทาง”
ของสถานที่กำจัดขยะ โดยใช้วิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมกับ
ขยะแต่ละประเภทในการแปรรูปขยะไปใช้ประโยชน์ (เป็นวัสดุ
หรือพลังงาน)
ขยะอินทรีย์เลือกใช้กระบวนการทางชีวภาพในการย่อย
สลายแปรสภาพเป็นปุ๋ยหมักหรือก๊าซชีวภาพ ขยะที่เผาไหม้ได้
(เช่น ถุงพลาสติก เศษกระดาษ) เลือกใช้กระบวนการทาง
ความร้อนในการแปรสภาพเป็นพลังงาน เช่น เชื้อเพลิงจากขยะ
(Refuse Derived Fuel: RDF) ความร้อนจากเตาเผาขยะ
ก๊าซเชื้อเพลิงจากระบบแก๊สซิฟิเคชัน นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้ การคัดแยกขยะ เป็นหัวใจสำคัญอีกประการ
ในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การแยกทิ้งขยะ
ที่ต้นทาง การเก็บขนขยะกลางทางแยกประเภท จนกระทั่งขยะ
ถึงปลายทางก็ยังต้องคัดแยกเพื่อแปรรูปขยะแต่ละประเภทด้วย
วิธีที่เหมาะสม
เมื่อขยะถูกลดการเกิด รวมถึงใช้ซ้ำและเข้าสู่กระบวน
การรีไซเคิลได้มากขึ้นที่ต้นทาง ขยะจะมาถึงปลายทางน้อยลง
และถูกนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์ที่ปลายทางเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นขยะที่เหลือลงหลุมฝังกลบก็จะน้อยลงจนเป็น
ศูนย์ในที่สุด
ที่มา ผศ.ดร.เนทิยา กรีธาชาติ คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา