ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี พายุโซนร้อน “วิภา” ได้พัดถล่มพื้นที่ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในโซนพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง นานหลายวัน ส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมฉับพลัน หากเราจะโฟกัสมาเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยพะเยาตั้งอยู่ และเป็นพื้นที่ในการทำงานวิจัยต่าง ๆ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งมีน้ำปี้ ลำน้ำสายเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อถึงฤดูมรสุม ลำน้ำสายเล็ก ๆ นี้ ก็สามารถทำให้เกิดล้ำหลาก เมื่อเกิดฝนตกหนักเฉียบพลัน สร้างความเสียหายให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตพายุ เทศบาลตำบลเชียงม่วนได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะต้นแบบ” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางน้ำอย่างเป็นระบบ โดยร่วมมือกับมูลนิธิแก้จน และมหาวิทยาลัยพะเยา พัฒนาโครงการนำร่องติดตั้งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองซึ่งสามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์
https://chiangmuan.igovapp.com/waterlevel ซึ่งระบบดังกล่าวจะแสดงระดับน้ำพร้อมสถานะสี เช่น สีเขียวหมายถึงปกติ สีเหลืองคือเฝ้าระวัง และสีแดงคือเตือนภัย ช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที
.jpg)
.jpg)
เบื้องหลังความสำเร็จของแพลตฟอร์มนี้ ไม่ได้เกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาระบบ AI ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการวัดระดับน้ำ การส่งสัญญาณเตือนภัย และการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประกอบด้วย 3 ระบบหลัก ได้แก่
1. ระบบตรวจวัดระดับน้ำแบบเรียลไทม์ มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดจำนวน 2 จุด คือบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปี้ โดยใช้เซนเซอร์ Ultrasonic สำหรับวัดระดับน้ำช่วง 0–10 เมตร พร้อมเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ข้อมูลจะถูกส่งอัตโนมัติทุก 5 นาทีผ่านระบบ IoT และ WiFi ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้แบบวินาทีต่อวินาที ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงมรสุม
2. ระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมอัตโนมัติ เมื่อระดับน้ำเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ตัวระบบจะส่งการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน LINE ไปยังประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ช่วยให้สามารถอพยพประชาชนในพื้นที่เสียงภัยได้ทันเวลา และลดความเสี่ยงจากน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง เพื่อคาดการณ์แนวโน้มระดับน้ำ ในอนาคต ทำให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถวางแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างแม่นยำ
.jpg)
โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือที่แท้จริงระหว่างนักวิจัย คณาจารย์ และนิสิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย ดร.อภิวัฒน์ บุตรวงค์, อาจารย์เชาวน์ ปอแก้ว, ผศ.ดวิษ แสนโภชน์, อาจารย์ชลติพันธ์ เปล่งวิทยา และ ดร.ณัฐพล หาญสมุทร โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาองค์การสหประชาชาติอย่างยั้งยืน (SDGs) คือ SDG 11 (เมืองและชุมชนยั่งยืน), SDG 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา) ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา
นอกจากนี้ โครงการยังได้รับการต่อยอดโดย ดร.สวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข ซึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีโดรนเข้ามาสำรวจภูมิประเทศของหมู่บ้านในมุมสูง เพื่อนำข้อมูลความสูงของภูมิประเทศ มาเปรียบเทียบกับระดับน้ำจริงที่สถานีตรวจวัด P.1 บริเวณสะพานบ้านกลาง ส่งผลให้การคาดการณ์ภัยน้ำท่วมและน้ำแล้งมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากความสำเร็จในพื้นที่เชียงม่วน คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีแผนขยายการใช้งานระบบนี้สู่พื้นที่หน้า มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดอุทกภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ร้านค้า หอพัก ประชาชนในพื้นที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัยพะเยาที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่หน้ามหาวิทยาลัย การนำเอาระบบเตือนภัยดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น จึงเป็นอีกบทบาทสำคัญ ในการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยในอนาคต

จาก “ลำน้ำปี้โมเดล” ทำให้เรามองเห็นว่า เทคโนโลยีที่ดีไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่ต้องตอบโจทย์ของพื้นที่ และสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย การที่เราเห็นเทศบาลขนาดเล็ก เช่น เทศบาลตำบลเชียงม่วนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือบทพิสูจน์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง บนฐานความร่วมมือของภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยพะเยา และประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อย่างแท้จริง
ข้อมูล: นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง (นักประชาสัมพันธ์คณะ ICT มหาวิทยาลัยพะเยา)
เรียบเรียง: บรรเจิด หงษ์จักร นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยพะเยา