.jpg)
"นกยูงไทยหรือนกยูงเขียว" เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย และอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์ (Endangered Species) ตามบัญชีแดงของ IUCN จังหวัดพะเยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่มีนกยูงไทยอาศัยอยู่ โดยข้อมูลจาก “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ระบุว่า “นกยูงไทยกำลังจะสูญพันธุ์” เนื่องจากมีการล่านกยูงเพื่อนำขนมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่ง และเป็นเครื่องหมายในการแสดงสถานภาพในกลุ่มสังคมของบางกลุ่ม การล่าไข่นกยูงไปฟักเป็นตัว เพื่อส่งขายให้กับพ่อค้า การทำนกยูงไปประกอบอาหาร รวมถึงการทำลายพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูงเองด้วย
การอนุรักษณ์นกยูงนอกจากจะต้องศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ตามธรรมชาติ แหล่งที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนกยูง เพื่อให้นักวิจัยรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสามารถศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษณ์นกยูงไทยอย่างยังยืน การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการสังเกตุการณ์พฤติกรรมตามธรรมชาติของนกยูง ทำให้มนุษย์ได้อยู่ห่างจากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนกยูง ซึ่งนกยูงเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่มีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างขี้อาย จึงทำให้การสังเกตการณ์เป็นไปได้อยาก
.jpg)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนา อุดมศรีไพบูลย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา นักวิจัยระบบถ่ายทอดสดเคลื่อนที่ เพื่อการสังเกตุการณ์พฤติกรรมของนกยูงได้ เล่าให้ฟังว่า โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบถ่ายทอดสด ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ง่ายและมีราคาย่อมเยา ผสานกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เพื่อใช้ในการสังเกตพฤติกรรมของนกยูงไทยในพื้นที่ธรรมชาติ นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถถ่ายทอดสด เพื่อเผยแพร่ภาพไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยม เช่น YouTube, Facebook และ Twitter ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลและติดตามพฤติกรรมของนกยูงไทยได้แบบเรียลไทม์ การเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบถ่ายทอดสดนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมนกยูงไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เมื่อชุมชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีความเข้าใจในพฤติกรรมและความสำคัญของนกยูงไทย ก็จะสามารถนำไปต่อยอด เพื่อมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่น ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.jpg)
โครงการพัฒนาระบบถ่ายทอดสดเคลื่อนที่ ยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน ผ่านการอนุรักษ์ เช่น การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ว่าด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านที่ 2 ว่าด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการส่งเสริมเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เมืองอัจฉริยะ และการจัดการระบบนิเวศเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้แผนแม่บทด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณรายได้ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน
.jpg)
สัตว์ป่าหลายชนิด รวมถึงนกยูงไทย เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีนิสัยรักความสงบและหลีกเลี่ยงการปะทะกับมนุษย์ การดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่า การล่า หรือการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างนัยสำคัญ และอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในอนาคต การเข้าไปสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าในธรรมชาติเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อนักวิจัย เนื่องจากสัตว์เหล่านี้มักหลบซ่อนตัวและมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบถ่ายทอดสดเคลื่อนที่ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักวิจัย ในการติดตามและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าโดยไม่รบกวนวิถีชีวิตตามธรรมชาติ นอกจากจะช่วยให้นักวิจัยสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อวางแผนการอนุรักษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
.jpg)
ข้อมูล: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนา อุดมศรีไพบูลย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา
เขียน/เรียบเรียง: บรรเจิด หงษ์จักร นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยพะเยา