_638805921389544036.jpg)
จังหวัดพะเยา ได้รับการรับรองเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกเมื่อ 2 กันยายน 2565 โดย UNESCO Global Network of Learning Cities (GNLC) มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนรอบกว๊านพะเยาให้เป็นโอกาสสำหรับคนทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นพะเยา โดยมี TK PARK พะเยา เป็นจุดศูนย์กลาง พื้นที่รอบกว๊านพะเยายังเชื่อมกับหลักสูตรระยะสั้นของมหาวิทยาลัยพะเยาหลายหลักสูตร ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่ออิ่มท้อง อิ่มใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.jpg)
มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะสถาบันการศึกษาหลักของจังหวัด ทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพะเยา สำนักส่งเสริมการเรียนรู้ และ ปราชญ์ชุมชนพะเยา ได้ใช้เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ที่ได้รับทุนจาก บพท. กระทรวง อว. เป็นเครื่องมือ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นที่พะเยา เพื่อความยั่งยืนในการทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการเรียนรู้ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุน
หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการดำเนินการสำรวจและติดตามเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามแต่งตั้ง โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม 2568 พบว่ามีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งหมด 3,013 คน ได้รับการช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว 1,041 คน คิดเป็นร้อยละ 34.55 แบ่งเป็นผู้ที่กลับเข้าสู่การศึกษาในประเทศ 468 คน ศึกษาต่อต่างประเทศ 441 คน การศึกษาทางเลือก ม.12 จำนวน 6 คน และย้ายออกนอกพื้นที่ 126 คน เหลือจำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอีก 1,972 คน หรือร้อยละ 65.45 ของทั้งหมด

ทั้งนี้ในปี 2567 ข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของจังหวัดพะเยามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,948 คน เนื่องจากมีเด็กและเยาวชนกลุ่มใหม่เข้าสู่ช่วงอายุ 3-18 ปี เพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยาและภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการสำรวจไปแล้ว จำนวน 849 คน คิดเป็นร้อยละ 28.80 และจะดำเนินการสำรวจต่อไปอีก 2,099 คน รวมถึงการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังสถานีการเรียนรู้ของจังหวัดพะเยาต่อไป
เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้เกิดความยั่งยืน มหาวิทยาลัยพะเยาและพันธมิตรได้จัดตั้งพื้นที่เรียนรู้ในหลายจุดทั่วจังหวัด อาทิ มหาวิทยาลัยพะเยา TK PARK พะเยา อุทยานวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ (Science Park) วัดเมืองชุม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองเล็งทราย และทับพญาลอ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเรียนรู้หลากหลาย เช่น ทักษะสีเขียว ทักษะคิดสร้างสรรค์ ทักษะการอ่านออกเขียนได้ การเป็นผู้ประกอบการ และทักษะดิจิทัล
และที่กำลังดำเนินการอยู่ปัจจุบันนี้ คือ การร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ดำเนินโครงการจัดทำหลักสูตรหมอชาวบ้าน โดยมีพื้นที่ที่อำเภอปง เป็นต้นแบบ ซึ่งจัดทำภายใต้การดูแลของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อสำเร็จการอบรม ผู้เรียนจะได้รับค่าครองชีพและได้งานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างอาชีพ และทางเลือกการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้แก่เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา
การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงความตั้งใจของจังหวัดพะเยาในการใช้พลังของการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง สมกับสถานะ “เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก” ตามที่ UNESCO ให้การรับรองอย่างภาคภูมิใจ
.jpg)