
กฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ของสหภาพยุโรป (EU AI Act)
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งเพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ เช่น ระบบสแกนใบหน้า ระบบสั่งการด้วยเสียง ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์ที่ซับซ้อนเพื่อประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจหรือภาคอื่นๆ เช่น การนำข้อมูลขององค์กรมาวิเคราะห์เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยโรคในทางการแพทย์ และเมื่อมีการนำ AI มาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์หรือมาตรการบางอย่างเพื่อเข้ามาควบคุมการใช้ AI ไม่ให้มีการใช้ในลักษณะที่เป็นการละเมิดต่อจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน
EU AI Act คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้พัฒนากฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (EU Artificial Intelligence Act: EU AI Act) ฉบับแรกของโลก ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในปี 2564 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2567 จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างกฎระเบียบและการกำกับดูแลที่ชัดเจน รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI อาทิ ปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยในการใช้งาน AI ในบางภาคส่วน เช่น การคมนาคม และการเลือกปฏิบัติของอัลกอริทึม นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI ในสหภาพยุโรปอีกด้วย
การแบ่งระดับความเสี่ยงตามประเภทของ AI
(ที่มารูปภาพ: https://digital-strategy.ec.europa.eu/en/policies/regulatory-framework-ai)
EU AI Act ได้แบ่งประเภทของ AI ตามระดับความเสี่ยง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1) AI ที่มีความเสี่ยงระดับที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable risk) 2) AI ที่มีความเสี่ยงสูง (High risk) 3) AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด (Limited risk) และ 4) AI ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด (Minimal risk) โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
1) AI ที่มีความเสี่ยงระดับที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable risk)
ระบบ AI ประเภทนี้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัย การดำรงชีวิต และสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน จึงมีการสั่งห้ามดำเนินกิจกรรม เช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อกำหนดคะแนนของประชาชน การใช้ AI เพื่อระบุตัวตนของประชาชนระยะไกลแบบเรียลไทม์เพื่อวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีรถไฟ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว
2) AI ที่มีความเสี่ยงสูง (High risk)
เป็นกรณีที่การใช้ AI อาจส่งผลต่อหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตก่อนดำเนินกิจกรรม เช่น การใช้ AI ในทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์เพื่อวินิจฉัยโรค การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ การใช้ AI ในการจัดเรียงข้อมูลผู้สมัครงานเพื่อจ้างเข้าทำงาน และการใช้ AI ในการกำหนดการเข้าถึงการศึกษา เช่น การให้คะแนนสอบ หรือการประเมิน
3) AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด (Limited risk)
การใช้ AI ประเภทนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้ต้องได้รับการแจ้งว่ากำลังใช้งาน AI อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งาน โดยตัวอย่าง AI ประเภทนี้ ได้แก่ แชทบอท และระบบการแนะนำสินค้าบนเว็บไซต์ Ecommerce
4) AI ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด (Minimal risk)
กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เป็นพิเศษให้แก่ AI ประเภทนี้เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ เช่น แอปพลิเคชั่นกล้องถ่ายรูปที่ใช้ AI ในการแต่งภาพ หรือตัวกรองสแปม
EU AI Act ส่งผลกระทบอย่างไร
แน่นอนว่าการประกาศใชกฎหมายฉบับนี้นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่ต้องการดำเนินการภายใต้ตลาดของสหภาพยุโรป โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย AI ให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่อาจจะตามมาหากฝ่าฝืน โดยอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึงร้อยละ 6 ของรายได้บริษัท
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของภาคธุรกิจคือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อาทิ ต้นทุนการดำเนินงานในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดทำเอกสาร อาจไปจนถึงการออกแบบระบบ AI ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงการฝึกอบรมพนักงานให้มีความเข้าใจในบทบัญญัติเพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดข้อกำหนดต่าง ๆ
EU AI Act กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะส่งผลต่อภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก เช่นเดียวกับ GDPR (General Data Protection Regulation) ที่วางบรรทัดฐานเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยทั่วโลกต้องปฏิบัติตามหากต้องการดำเนินการกับข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป ดังนั้น ทุกประเทศจึงต้องเร่งพัฒนากรอบการกับกำดูแลเทคโนโลยี AI ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ไปพร้อมๆ กับการปกป้องสิทธิของประชาชน
บทความโดย อ. พรณัชชา ทับพันบุบผา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
แหล่งอ้างอิง
European Commission, ‘AI Act’ เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2568
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, ‘ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับกฎหมายควบคุม AI ฉบับแรกของโลก’ เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2568
ดร. สลิลธร ทองมีนสุข, ‘สำรวจโอกาส ความเสี่ยง ธุรกิจทั่วโลก หลัง EU ออกกม.กำกับ AI’ (2024) < https://tdri.or.th/2024/08/ai-act-eu-article/> เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2568
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
School of Law
University of Phayao
Address:
อาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) 19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000
โทรศัพท์ 0832566446,054-466-666
ต่อ 1614 งานธุรการ,งานแผนงาน,งานพัสดุ
ต่อ 1618 งานการเงินและบัญชี
ต่อ 1137 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อ 1851 งานกิจการนิสิต,งานบุคลากร
ต่อ 1852 งานวิชาการ
ต่อ 1619 คลินิกกฎหมาย,งานวิจัยและบริการวิชาการ
เว็บไซต์: https://law.up.ac.th/
YouTube: https://www.youtube.com/@LawUP
Tiktok : https://www.tiktok.com/@lawup2023
อีเมล์ law.up@up.ac.th