การพัฒนาแอปพลิเคชัน “PHUP โฮมฮัก ฮีลใจ วัยทีน”

27/11/2567 12:59:33น. 198
การพัฒนาแอปพลิเคชัน “PHUP โฮมฮัก ฮีลใจ วัยทีน”
การพัฒนาแอปพลิเคชัน “PHUP โฮมฮัก ฮีลใจ วัยทีน”

          สถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยจากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภาวะด้านสังคมไตรมาส 4 พ.ศ.2565 พบว่าโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตมีอัตราเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในปี พ.ศ. 2563 มีอยู่ 355,537 ราย และในปี พ.ศ. 2564 เพิ่มเป็น 358,267 ราย รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตายในปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ช่วงปีพ.ศ. 2547 - 2563 ที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5 - 6 รายต่อประชากรแสนคน โดยพบว่ากลุ่มที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 15 - 34 ปี เป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น โดยมีปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน รวมทั้งภาวะป่วยกายหรือใจเรื้อรัง การใช้สุรา และสารเสพติด และภาวะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น


          สถานการณ์ภาวะสุขภาพจิตในภาคเหนือ มีอัตราฆ่าตัวตายและสำเร็จ 15.31 รายต่อแสนประชากร ซึ่งสูงสุดเป็น อันดับ 1 ของประเทศ และสถิติผู้พยายามฆ่าตัวตายมากถึง 1,816 ราย โดยร้อยละ 50 เป็นกลุ่มวัยเรียนมีช่วงอายุ 10 - 24 ปี ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จำนวน 214 ราย จังหวัดเชียงใหม่ 198 ราย จังหวัดลำปาง จำนวน 138 ราย และจังหวัดพะเยา จำนวน 132 ราย (ที่มา: ข้อมูล รง 506S ปีงบประมาณ 2565) ในส่วนของมหาวิทยาลัยพะเยาพบรายงานการเข้ารับบริการศูนย์ให้คำปรึกษานิสิต ผลสำรวจจาก การมารับบริการในปี 2563 - 2566 เรียงจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับ ได้แก่ ปัญหาซึมเศร้า ปัญหาการเรียน และปัญหาครอบครัวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี นิสิตที่สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ส่วนหนึ่งได้เข้ารับบริการเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ส่วน หน่วยคุณภาพนิสิตและกิจการนิสิตของคณะสาธารณสุขศาสตร์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมหาแนวทางการแก้ไขป้องกัน คณะสาธารณสุขศาสตร์จึงประเมินปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของนิสิต ในหลาย ๆ มิติ ประกอบด้วย มิติภาวะความเครียด (ST-5) มิติด้านภาวะเสี่ยงซึมเศร้า (9Q) และภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย (8Q) และคณะผู้บริหารได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต จึงได้มีนโยบายและมีการดำเนินการออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ แบบมีส่วนร่วม ซึ่งมุ่งเน้นเติมพลังวัคซีนใจให้กับผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ได้แก่ วัคซีนใจนิสิต วัคซีนใจบุคลากร และวัคซีนใจผู้ปกครอง เช่น กิจกรรม Strong Together (เสริมพลังใจนิสิตใหม่) กิจกรรม “งานสร้างสุข สู่องค์กรสร้างสรรค์” กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "แกนนำวัคซีนใจ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ" รุ่นที่ 1 เป็นต้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ทักษะในการดูแลตนเอง และการดูแลผู้ใกล้ชิดได้อย่างถูกต้อง




          จาการดำเนินงานในหลาย ๆ มิติ หน่วยคุณภาพนิสิตและกิจการนิสิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ต้องการ ที่จะทำงานเชิงรุกเพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มนิสิตและขยายผลรวมถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัยพะเยา จึงทำให้เกิดแนวคิดแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รูปแบบแอปพลิเคชันไลน์ ที่ชื่อว่า “PHUP โฮมฮัก ฮีลใจ วัยทีน” และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชัน จึงมีแนวคิดพัฒนาให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมในระบบ IOS และ Android




          คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ดำเนินลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การดูแลจิตใจ สร้างเครือข่ายด้านสุขภาพจิต ระหว่าง โรงพยาบาลสวนปรุง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เชียงใหม่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา นิสิต ในการดูแลด้านสุขภาพจิต ทักษะการจัดกิจกรรม และทักษะชีวิตที่จำเป็น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและวิจัยในเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และเพื่อให้เกิดภาคีเครือข่ายการดำเนินงานด้านความรอบรู้ และส่งเสริมการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ต่อไป




          ในโอกาสนี้ ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 เชียงใหม่ และคณะผู้บริหาร บุคลากร และนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตของนิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยพะเยา

บทความโดย นายณรงค์ศักดิ์ ใจเที่ยงธรรม
                    นักวิชาการศึกษา
                    คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   piyachat.pi@up.ac.th   
27/11/2567 12:59:33น. 198
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน