คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นคณะที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ หรือการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของสังคมได้ในอนาคต วันนี้เราได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่จะมาให้ข้อมูลสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนตัดสินใจเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ กันค่ะ
หลักสูตรเรียนรู้คู่ชุมชน
หลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ โดยการบรรจุรายวิชาเกี่ยวกับชุมชนไว้ในหลักสูตร เช่น วิชาโภชนาการชุมชน และวิชาทัศนะชุมชนเชิงชีวเคมี ซึ่งการเรียนการสอนไม่ได้เป็นเพียงการออกไปเยี่ยมชุมชน แต่รวมถึงการนำข้อมูลจากพื้นที่มาพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมีการบูรณาการการเรียนการสอนด้านนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับหลักสูตร GE (General Education) ซึ่งสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ โดยนิสิตจะได้เรียนรู้วิชาบูรณาการสู่นวัตกรรมวิชาชีพ มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม ปัจจุบันคณะฯ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการวิจัยที่สามารถจำหน่ายได้จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีวางจำหน่ายในร้าน UP INNO SHOP สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา
อาจารย์มีความรู้และประสบการณ์ มุ่งนำวิจัยพัฒนาชุมชน
คณะมีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยที่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อชุมชน ดังนั้นอาจารย์ทุกท่านจึงเน้นให้การเรียนการสอนช่วยให้นิสิตคิดถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นทำโปรเจค ในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในการทำโปรเจคแต่ละชิ้น นิสิตต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมเสมอว่าผลลัพธ์ของโปรเจคนั้นสามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้อย่างไร ทุกโปรเจคที่นิสิตนำเสนอจึงมักเชื่อมโยงกับปัญหาหรือความต้องการของชุมชน ซึ่งได้จากการลงพื้นที่จริง โดยสามารถศึกษาปัญหาที่พบ วิเคราะห์และออกแบบวิธีแก้ไขเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
โอกาสในการทำงาน
หลัก ๆ แล้ว นิสิตที่จบจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถประกอบอาชีพได้หลายสาย เช่น เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นบทบาทเด่นสายหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ (QC) ในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับบางคนที่ไม่ต้องการทำงานประจำและมีโอกาสทำงานแบบฟรีแลนซ์ เช่น นักโภชนาการ ที่ให้คำปรึกษาตามศูนย์เด็กเล็กหรือฟิตเนส รวมถึงงานด้านวิจัยต่าง ๆ เช่น นักจุลชีววิทยา ในหน่วยงานวิจัยที่มีโครงการหลากหลาย แม้บางคนอาจไม่ได้ทำงานประจำแต่ส่วนใหญ่ยังมีโอกาสได้งานในตลาดสูง โดยจากข้อมูลที่สำรวจพบว่า บัณฑิตที่จบจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์มักได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีโอกาสฝึกงานหรือทำงานสหกิจในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสและทักษะในการทำงานในสายวิชาชีพเป็นอย่างดี
การสมัครเข้าศึกษา
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาต่อในรอบ TCAS68 โดยจะเปิดรับสมัคร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 - เดือนมกราคม 2568 ซึ่งจะมี 4 โครงการ คือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานรับเข้าศึกษา กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา