Halloween Quiz

31/10/2567 12:46:11น. 147
Halloween Quiz

Halloween Quiz

31 ตุลาคมเป็นวัน Halloween เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เราเลยอยากชวนตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องผี เวทมนตร์ แม่มด สิ่งลึกลับในกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศกัน มาลองดูว่าจะตอบคำถามถูกกันกี่ข้อ คำเฉลยของคำถามอยู่ท้ายบทความนี้


1. ตามพระไอยการลักษณะรับฟ้องในกฎหมายตราสามดวง ผีในข้อใด ที่มาฟ้องคดีแล้ว ต้องยกฟ้อง
ก. ฉมบ
ข. จะกละ
ค. กระสือ
ง. ถูกทุกข้อ


2. ตามพระไอยการเบ็ดเสร็จของกฎหมายตราสามดวง โทษของการทำคุณไสยสาปแช่งผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจะต้องได้รับโทษอะไร
ก. ปรับไหม 3 ตำลึง
ข. กักขังเอาไว้ในเรือนตลอดชีวิต
ค. ประหารชีวิต แล้วริบทรัพย์สินเข้าพระคลัง
ง. ถูกทุกข้อ


3. ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้ามีข้อพิพาทหรือคดีความเกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์ การทำคุณไสย หน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาความ
ก. ศาลกระทรวงเวทมนตร์
ข. ศาลกรมแพทยา
ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้
ง. ศาลรัฐธรรมนูญ


ข้อ 4. ตามกฎหมายอาญาไทยยุคปัจจุบัน ถ้าเขียวพูดกับเหลืองว่า “ฟ้าเป็นผีกระหังปลอมตัวมาในหมู่บ้านเรา” เขียวทำความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทหรือไม่
ก. ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง ๆ แล้วเลิกคบกับฟ้าเพราะกลัวผี
ข. ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะคนทั่วไปไม่เชื่อว่าผีกระหังมีจริงจึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นต่อฟ้าที่ถูกพาดพิง
ค. ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้าเขียวสามารถพิสูจน์ได้ว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง และฟ้าต้องเป็นฝ่ายรับโทษทางอาญาเพราะเป็นผี
ง. มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ไม่ต้องรับโทษ ถ้าเขียวสามารถพิสูจน์ได้ว่าฟ้าเป็นผีกระหังจริง เพราะเขียวเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้


5. ใครคือคนสุดท้ายที่ถูกลงโทษจำคุกตามกฎหมายการใช้เวทมนตร์ หรือ Witchcraft Act 1735 ของอังกฤษ
ก. โดโลเรส อัมบริดจ์
ข. เฮเลน ดันแคน
ค. แวนดา แม็กซิมอฟ
ง. แดเนอริส ทาร์แกเรียน


หมายเหตุ

  • ฉมบ - เป็นผีชนิดหนึ่งที่เกิดจากคนที่ตายในป่า มักปรากฏตัวเป็นแสงหรือเงาวูบวาบให้เห็น บางตำราว่าเป็นผีประเภทเดียวกับปอบ เกิดจากคนที่มีความรู้ด้านอาคมเวทมนตร์แล้วควบคุมไม่ได้ ของจึงย้อนเข้าตัว บางข้อมูลก็กล่าวว่า ฉมบหรือชมบหมายถึงคนที่มีผี เช่น กระสือ มาสิงอยู่ในตัว
  • จะกละ - เป็นผีป่าชนิดหนึ่ง เชื่อว่าหมอผีเลี้ยงเอาไว้เพื่อทำร้ายศัตรู มักจะมีลักษณะคล้ายแมว
  • กระสือ - ผีที่สิงในผู้หญิง ชอบกินของสกปรก ลักษณะเป็นดวงไฟ ในเวลากลางคืน บางข้อมูลกล่าวว่ากระสือเดินทางไปหากินด้วยการถอดหัวกับไส้ลอยไป ทิ้งตัวเอาไว้ที่บ้าน
  • กระหัง - ผีที่สิงในผู้ชาย ชอบกินของสกปรกเช่นเดียวกับกระสือ ว่ากันว่าเวลาจะไปไหนมาไหนจะใช้กระด้งเป็นปีกและสากตำข้าวเป็นหางสำหรับบินไป

เฉลย

1. ตอบข้อ ง. ในสมัยโบราณที่ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติและเวทมนตร์คาถาอยู่ จึงมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผีและการใช้ไสยศาสตร์อยู่ด้วย โดยพระไอยการลักษณะรับฟ้องในกฎหมายตราสามดวงได้กำหนดลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้องไว้ 20 ประการ โดยมีตอนหนึ่งกำหนดว่าถ้ามีผีฉมบ จะกละ กระสือมาฟ้องคดี ไม่ให้รับฟ้อง ถ้ารับฟ้องแล้วปรากฎความเรื่องนี้ทีหลังต้องยกฟ้อง


2. ตอบข้อ ค. ตามมาตรา 139 ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ (ในภาษาปัจจุบันคือ เบ็ดเตล็ด แปลว่าเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องย่อย ๆ ที่ไม่สามารถจัดเอาไว้เป็นกลุ่มใดเฉพาะได้) ของกฎหมายตราสามดวง โทษของการทำคุณไสยสาปแช่งผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจะต้องได้รับโทษประหารชีวิต แล้วริบทรัพย์สินเข้าพระคลัง

“...ผู้ใดส่อท่านว่าเปนฉมบกฤษติยา รู้ว่านยา รู้วิทยาคุณกระทําให้ท่านตายพิจารณาเปนสัจ แลหากเทษส่อท่านดั่งนั้น ท่าให้ลงโทษโดยโทษานุโทษ แล้วให้ไหมขวบค่าตัวผู้ส่อ ถ้าเปนสัจดุจผู้ส่อ ท่านให้ฆ่ามันผู้รู้คุณว่านยาฉมบจะกละกฤษติยานั้นเสีย เพราะมันจะทําไปภายหน้า ส่วนทรัพยสิ่งสีนมันนั้น ให้เอาเข้าพระคลังหลวงจนสิ้น...”


3. ตอบข้อ ข. ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศาลกรมแพทยามีหน้าที่ในการพิจารณาคดีข้อพิพาทหรือคดีความเกี่ยวกับการใช้เวทมนตร์ การทำคุณไสย เวทมนตร์ต่าง ๆ คำว่า “แพทยา” ในที่นี้ มีความหมายเดียวกับแพทย์หรือหมอรักษาโรคในปัจจุบัน และเนื่องจากการรักษาโรคในสมัยก่อน ไม่ได้มีเฉพาะการใช้ยาหรือวิธีทางการแพทย์แผนโบราณอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการใช้ความรู้ทางไสยศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของกรมแพทยาหน้าและกรมแพทยาหลังในการตัดสินคดีความเกี่ยวกับไสยศาสตร์นั่นเอง


4. ตอบข้อ ข. อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เพราะจำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามว่าโจทก์เป็นผีปอบ ความจริงโจทก์ไม่ได้เป็นผีปอบ ซึ่งทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนคือยกฟ้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การใส่ความจะต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย การกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ ตามความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบฐานหมิ่นประมาท และแม้คำว่าผีปอบอาจเป็นคำด่าที่ทำให้ผู้ที่ถูกด่าว่าหรือดูหมิ่นอื่นได้รับความอับอาย แต่เนื่องจากเขียวไม่ได้พูดต่อหน้าฟ้าจึงไม่ใช่การดูหมิ่นซึ่งหน้า เขียวจึงไม่ผิดฐานดูหมิ่นด้วยเช่นกัน

จากคำพิพากษาฎีกานี้ เห็นได้ว่าในยุคปัจจุบัน ศาลมองว่าผีเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องผี ดังนั้น การกล่าวหาคนว่าเป็นผีจึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา ต่างจากในสมัยก่อนที่เชื่อว่า ผีและไสยศาสตร์มีอยู่จริงและให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้


5. ตอบข้อ ข. เฮเลน ดันแคน (Helen Duncan) เป็นคนสุดท้ายที่ถูกลงโทษจำคุกตามกฎหมายการใช้เวทมนตร์ หรือ Witchcraft Act 1735 ของอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับแม่มด เนื่องจากดันแคนประกอบอาชีพเป็นร่างทรง แต่ความจริงแล้ว ดันแคนถูกจับกุมและดำเนินคดีเพราะเป็นนักต้มตุ๋นที่ทำมาหากินด้วยการหลอกหลวงคนที่เชื่อว่าเธอติดต่อกับวิญญาณได้ หลังจากถูกพิพากษาให้จำคุกในเดือนเมษายนปี 1944 และถูกปล่อยตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน และในอีก 7 ปีต่อมา กฎหมายห้ามการใช้เวทมนตร์ก็ถูกยกเลิก


อ้างอิง


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509
2. ผีในกฎหมายตราสามดวง (วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2560)
3. “ผี” ในตราสามดวง http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%9C%E0%B8%B5-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87
4. ‘ผีกระสือ’ เมืองอโยธยา หลายร้อยปีมาแล้ว (ก่อนสุโขทัย) โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4243084
5. “กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง” 2 หน่วยงาน พิพากษาคดีไสยศาสตร์ อยุธยา-รัตนโกสินทร์ https://www.silpa-mag.com/culture/article_140658
6. เฮเลน ดันแคน : แม่มด ชาวอังกฤษ คนสุดท้ายในศตวรรษที่ 20 https://ngthai.com/history/52242/helen-duncan-the-witch/


บทความโดย ฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
School of Law
University of Phayao
Address:
อาคารเรียนรวมหลังเก่า (PKY) 19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000
โทรศัพท์ 0832566446,054-466-666
ต่อ 1614 งานธุรการ,งานแผนงาน,งานพัสดุ
ต่อ 1618 งานการเงินและบัญชี
ต่อ 1137 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อ 1851 งานกิจการนิสิต,งานบุคลากร
ต่อ 1852 งานวิชาการ
ต่อ 1619 คลินิกกฎหมาย,งานวิจัยและบริการวิชาการ
เว็บไซต์ https://law.up.ac.th/
อีเมล์ law.up@up.ac.th





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
31/10/2567 12:46:11น. 147
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน

Halloween Quiz > </a><div style=

5 Halloween Quiz

 31 ต.ค. 2567