โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ได้ทำการ "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic assisted total knee arthroplasty)" ประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตอกย้ำศักยภาพความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาลและแพทย์เฉพาะทางด้านการเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม โดยอาจารย์ นพ.ฐิตินันท์ ธาราทิพยกุล พร้อมทีมวิสัญญีแพทย์ และทีมพยาบาลห้องผ่าตัด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ในวันนี้อาจารย์ นพ.ฐิตินันท์ ธาราทิพยกุล แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อนุสาขาออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม) จะมาบอกเล่าถึงประสิทธิภาพและประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้สุขภาวะของผู้ป่วยดีขึ้นได้มากกว่าเดิม
นพ.ฐิตินันท์ ธาราทิพยกุล
แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อนุสาขาออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ
(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม)
การเลือกใช้หุ่นยนต์เป็นอีกทางเลือกในการผ่าตัดที่ให้ความแม่นยำสูง
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการที่เหนือกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เช่น ช่วยในการวางแผนก่อนการผ่าตัดให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละบุคคล เพิ่มความแม่นยำ ลดความผิดพลาดและภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาเลือกใช้หุ่นยนต์ รุ่น CORI Surgical System - Smith+Nephew โดยระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะประมวลผลข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นรูปจำลองของกระดูกคนไข้ ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลของคนไข้แต่ละราย หุ่นยนต์ช่วยให้สามารถวางแผนการผ่าตัดและตัดกระดูกได้อย่างแม่นยำถึงในหน่วย 1 มิลลิเมตรหรือการตั้งตัดเอียง 1 องศา ซึ่งสามารถทำได้ยากในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมด้วยวิธีการดั้งเดิม ส่งผลให้การวางตำแหน่งของข้อเทียมมีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดในการคำนวณการปรับความตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นธรรมชาติ ลดการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นรวมถึงเนื้อเยื่อรอบๆ เข่า
ข้อจำกัดของหุ่นยนต์
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ (ค่าข้อเข่าเทียมและค่าผ่าตัด สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิของคนไข้) ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาเช็คสิทธิต่างๆได้กับทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาก่อนตัดสินใจผ่าตัด ถึงแม้จะมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แต่การผ่าตัดก็ยังจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนและควบคุมตลอดการผ่าตัด โดยเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถเข้ามารับการตรวจรักษาและประเมินอาการกับคุณหมอได้ทุกวันอังคาร เวลา 08.00 - 16.00 น. โดยอาจารย์ นพ.ฐิตินันท์ ธาราทิพยกุล พร้อมทีมวิสัญญีแพทย์ และทีมพยาบาลห้องผ่าตัด ประจำอยู่พร้อมให้การรักษา ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา
การให้บริการคลินิกเฉพาะทาง “ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์”
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา มีทีมแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาพยาบาลออกตรวจ 'ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์' บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อทั่วไป ทั้งการรักษาด้วยยา กายภาพ และการผ่าตัด ทั้งผู้ป่วยกระดูกหัก ข้อหลุดเคลื่อน บริการผ่าตัด ข้อเข่า และข้อสะโพกเทียม (Total knee replacement & Hip replacement) บริการรักษาโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกหักง่าย และตรวจคัดกรองมวลกระดูก (BMD) ร่วมกับสหวิชาชีพและคลินิกผู้สูงอายุ สามารถติดต่อสอบถามเพื่อปรึกษาหรือเข้ารับการรักษาได้ที่เบอร์โทร 0 5446 6666 ต่อ 7304 7211 ทุกวันเวลาราชการ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะช่วยเพิ่มความแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด และลดภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและต้องการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสภาพร่างกายและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ข่าวโดย : ธิดาเดือน อุตยานะ งานสื่อสารองค์กร
ข้อมูลโดย : นพ.ฐิตินันท์ ธาราทิพยกุล แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ อนุสาขาออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ