ช่วงฤดูฝนในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีน้ำขังและโคลน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่มาจากปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู วัว สุกร และสุนัข โรคฉี่หนูเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูฝนและเชื้อก็จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้นานเป็นเดือน เนื่องจากประชาชนมักสัมผัสน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนโดยไม่รู้ตัว เมื่อคนย่ำน้ำที่มีเชื้อฉี่หนูอยู่ เชื้อก็จะไชเข้าสู่ผิวหนังและทำให้คนป่วยได้
ผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคฉี่หนู
- ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่มีน้ำท่วมขัง มีการเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม
- ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร (ชาวนา ชาวไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น คนงานบ่อปลา) หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
- ผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก หรือเล่นกีฬาทางน้ำตามธรรมชาติ
อาการของโรคฉี่หนู
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเนื้อปวดตัว โดยเฉพาะบริเวณน่อง ข้อเท้า และหลัง หากไม่ได้รับการรักษา โรคนี้สามารถลุกลามไปยังอวัยวะภายใน เช่น ไต ตับ ปอด หรือทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด และเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง
วิธีการป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือโคลนที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์
2. สวมรองเท้าบูทและถุงมือเมื่อต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่เกษตรกรรม
3. ทำความสะอาดบาดแผลที่สัมผัสน้ำสกปรกทันที และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหากมีบาดแผล
4. กำจัดสัตว์พาหะ เช่น หนู ในบ้านและบริเวณรอบๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
แนะนำให้รีบพบแพทย์
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวภายใน 10-14 วันหลังสัมผัสน้ำหรือโคลน ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างทันท่วงที โดยการรักษาในระยะเริ่มแรกจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น