ม่วงศรีอุดร (Amischotolype balslevii Boonsuk, Chantar. & Kantachot) พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย

29/8/2567 10:33:55น. 765
ม่วงศรีอุดร (Amischotolype balslevii Boonsuk, Chantar. & Kantachot) พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย

 
ม่วงศรีอุดร (Amischotolype balslevii Boonsuk, Chantar. & Kantachot)
พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทย

          ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายทางชนิดของพรรณพืชสูง คาดว่ามีพรรณไม้ดอกในประเทศไทยจำนวนประมาณ 11,000 ชนิด ประเทศไทยได้มีนักอนุกรมวิธานพืชร่วมกันจัดตั้งโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยและดำเนินการศึกษาพรรณพืชในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2510 การสำรวจวิจัยและรวบรวมข้อมูลพรรณไม้นั้นต้องอาศัยความความร่วมมือจากนักอนุกรมวิธานพืชที่มีความเชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านเป็นอย่างมาก โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) เพื่อใช้เป็นคู่มือในการจำแนกชนิดของพืชวงศ์ต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของพรรณไม้ชนิดนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นหนังสือข้อมูลทรัพยากรพรรณไม้ที่สำคัญของประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การศึกษาวิจัยพืชวงศ์ผักปลาบ (Commelinaceae) เพื่อจัดทำหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญช่วง บุญสุข จากมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ช่อทิพย์ กัณฑโชติ จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยได้เริ่มศึกษาพืชวงศ์ผักปลาบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และได้ทยอยตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยพืชบางกลุ่มในวงศ์นี้ไปแล้ว 2 เรื่อง ได้แก่ “Notes on tribe Streptolirieae and genus Dictyospermum (Commelinaceae)” ตีพิมพ์ในวารสาร “Thai Journal of Botany” เล่ม 15 ปี พ.ศ. 2565 และ “A taxonomic account of Commelinaceae subtribe Cyanotinae in Thailand” ตีพิมพ์ในวารสาร “Tropical Natural History” เล่ม 23 ปี พ.ศ. 2565


           การศึกษาทบทวนพืชสกุล Amischotolype ในประเทศไทยเริ่มจากการศึกษาเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง เอกสารการตีพิมพ์ครั้งแรกของพืชแต่ละชนิดทั้งที่เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับและชื่อพ้อง การศึกษาตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบที่ใช้ในการตั้งชื่อ การศึกษาตัวอย่างพรรณไม้แห้งในพิพิธภัณฑ์พืชทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งเก็บรักษาตัวอย่างพรรณไม้ที่นักพฤกษศาสตร์เก็บมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ทีมวิจัยต้องออกภาคสนามเพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ในภาคต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยไปด้วยเช่นกัน แล้วบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ถ่ายภาพ และบรรยายลักษณะของพืชอย่างละเอียด ซึ่งทำให้ทราบจำนวนที่แน่ชัดของพืชสกุลต่าง ๆ ของวงศ์ผักปลาบทั้งหมดในประเทศไทยได้ โดยทีมวิจัยได้ออกสำรวจภาคสนามในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2565 และได้พบพืชชนิดหนึ่งในสกุล Amischotolype มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุก ปีนป่าย ข้อมีขนสั้น ๆ หรือเกลี้ยง กาบใบมีขนเฉพาะบริเวณปากของกาบใบ ใบรูปรีแกมรูปใบหอก ยาว 24–32 ซม. กว้าง 4.5–8 ซม. ผิวใบด้านบนมีขนสั้นหรือผิวเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างเกลี้ยง ช่อดอกเป็นกระจุกกลมจำนวน 12–16 ดอกต่อช่อ กลีบเลี้ยงยาว 10–14 มม. สีเขียวอ่อนปลายสีม่วงถึงสีม่วง ติดทน ผิวเกลี้ยง กลีบดอกยาว 7–8 มม. สีขาว เกสรเพศผู้มี 6 เกสร ก้านเกสรเพศผู้ยาว 9–11 มม. สีขาว ผิวเกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน สีขาว แตกตามยาว รังไข่ประกอบด้วย 3 คาร์เพล มีขน ก้านเกสรเพศเมียสีขาว ผิวเกลี้ยง ผลหรือแคปซูลรูปทรงรี ยาว 16–18 มม. กว้าง 8–9 มม. สีขาวแกมม่วง มีขนที่ส่วนปลาย มี 2 เมล็ดต่อช่อง เมล็ดยาว 6.5–7 มม. กว้าง 3.5–4 มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้ม ซึ่งมีความลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย พืชชนิดนี้มีลักษณะคล้าย A. divaricata แต่มีความแตกต่างในลักษณะผิวใบและกาบใบที่มีผิวเกลี้ยง ความยาวของกลีบเลี้ยงและแคปซูลที่ยาวที่สุดในพืชสกุลนี้ และสีของแคปซูลที่มีสีขาวแกมม่วง พรรณไม้ชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกมีชื่อว่า ม่วงศรีอุดร (Amischotolype balslevii Boonsuk, Chantar. & Kantachot) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Blumea เล่มที่ 69 หน้า 49–53 พ.ศ. 2567 สำหรับคำระบุชนิด “balslevii” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Henrik Balslev ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออร์ฮุส เดนมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยและเป็นบรรณาธิการหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยอีกด้วย ม่วงศรีอุดรพบตามริมลำธารหรือพื้นที่ชุ่มชื้นในป่าดิบ ในประเทศไทยพบในจังหวัดเลย อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม ชลบุรี และจันทบุรี ทั้งยังพบในแขวงบอลิคำไซและแขวงคำม่วนของประเทศลาวอีกด้วย การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกจากประเทศไทยนี้สอดคล้องกับพันธกิจและแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยพะเยาในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศไทย และช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยพะเยาในระดับนานาชาติ

ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม :
Boonsuk, B., Chantaranothai, P. & Kantachot, C. 2024. A new species of Amischotolype Hassk. (Commelinaceae: Tradescantieae) from Thailand. Blumea 69(1): 49-53.


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญช่วง บุญสุข
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา









facebooktwitterline


ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   piyachat.pi@up.ac.th   
29/8/2567 10:33:55น. 765
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน