กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 1: รู้จัก SOGIESC เพื่อเข้าใจความหลากหลายทางเพศ

6/6/2567 17:04:16น. 1303
“SOGIESC” เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และเพื่อรับประกันว่าบุคคลไม่ว่าเพศใดจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

กฎหมายใน Pride Month ตอนที่ 1: รู้จัก SOGIESC เพื่อเข้าใจความหลากหลายทางเพศ

“SOGIESC” เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และเพื่อรับประกันว่าบุคคลไม่ว่าเพศใดจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

หลายคนอาจคุ้นเคยกับความคิดที่ว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศ คือ ชายและหญิง และคาดหวังว่าชายและหญิงจะแสดงบทบาทตามความคาดหวังหรือบรรทัดฐานของสังคมที่ตรงกับลักษณะทางกายภาพตามเพศที่ติดตัวมาตอนกำเนิด และการมองเรื่องเพศว่ามีแค่สองเพศเท่านั้น (binary) ก็ทำให้คนในสังคมและโครงสร้างของสังคมรวมถึงกฎหมายมองเห็นบทบาทและตัวของของคนในสังคมเฉพาะแค่สองเพศ และสร้างกฎเกณฑ์กติการวมถึงบรรทัดฐานมากำหนดพฤติกรรมและแนวทางปฏิบัติต่อบุคคลเพศชายและหญิงที่มีการแสดงออกตรงกับเพศที่กำเนิดมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง มนุษย์เราอาจถือกำเนิดและมีการแสดงออกที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ถูกสังคมกำหนดเอาไว้ก็ได้ เช่น บางคนถือกำเนิดมาโดยมีอวัยวะเพศของทั้งชายและหญิง ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้สึกดึงดูดกับผู้ชายและผู้ชายไม่จำเป็นต้องรู้สึกดึงดูดกับผู้หญิงเสมอไป บางคนเกิดมามีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่รับรู้ตัวตนของตนเองว่าเป็นชาย หรือบางคนก็อาจไม่ประสงค์ที่จะระบุเพศของตนเองเป็นชายหรือหญิง เป็นต้น

เห็นได้ว่าตัวตนทางเพศของบุคคลมีความหลากหลาย แต่การที่สังคม ‘รู้จัก’ เพศเพียงแค่ชายและหญิงว่าคนเราต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น รวมถึงรับรู้ว่าบทบาทของชายและหญิงต้องแตกต่างกัน ทำให้บุคคลที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดอย่างบุคคลเพศหลากหลายกลายเป็นเป้าหมายของการถูกกลั่นแกล้ง ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติในสิ่งที่ขัดกับตัวตนของตนเอง ไม่ได้รับการรับรองสิทธิในทางกฎหมาย รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมตามกฎหมายในบางเรื่องได้ ทั้งที่บุคคลเพศหลากหลายก็เป็นพลเมืองของสังคมและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเสมอกัน และควรสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิตามกฎหมายได้ตามหลักนิติธรรม

การรับรู้และเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงการเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพศหลากหลายเกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเริ่มต้น Pride Month คณะนิติศาสตร์ ม. พะเยาจะพาไปทำความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศในเบื้องต้นผ่าน “SOGIESC” กัน

“SOGIESC” เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และเพื่อรับประกันว่าบุคคลไม่ว่าเพศใดจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเป็นคำย่อมาจากคำต่าง ๆ ต่อไปนี้

Sexual Orientation (SO) คือเพศวิถี รสนิยมทางเพศ หรือแรงดึงดูดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นรักต่างเพศ รักเพศเดียวกัน เช่น ชอบผู้หญิงด้วยกัน (lesbian) ชอบผู้ชาย ด้วยกัน (gay) หรือชอบทั้งชายและหญิง (bisexual) ชอบโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใด (pansexual) หรือไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศหรือรู้สึกถึงแรงดึดดูดทางเพศน้อย (asexual) เป็นต้น

Gender Identity (GI) คือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึงความรู้สำนึกเกี่ยวกับสภาวะทางของเพศตัวเองตามความเข้าใจหรือนิยามของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิดหรือเพศทางกายภาพก็ได้ โดยอาจเป็นบุคคลตรงเพศ (cisgender) เช่น มีเพศสรีระเป็นหญิงและนิยามตนเองว่าเป็นเพศหญิง หรือเป็นบุคคลข้ามเพศ (transgender) เช่น มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีสำนึกทางเพศและนิยามตนเองว่าเป็นหญิง ไม่ประสงค์ที่จะหรืออาจอยู่นอกกรอบสองเพศ (non-binary) ก็ได้

Gender Expression (GE) คือ การแสดงออกทางเพศ เป็นการแสดงออกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หรือพฤติกรรม เช่น การแต่งกาย ทรงผม การพูด และการแสดงออกทางเพศนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามภาพลักษณ์ของอัตลักษณ์ทางเพศที่สังคมกำหนดกรอบเอาไว้ด้วย เช่น แต่งกายโดยผสมผสานความทั้งความเป็นชายและหญิง (androgyny)

Sex Characteristics (SC) คือ เพศสรีระหรือเพศกำหนด หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิด เช่น เพศชาย เพศหญิง หรือมีเพศสรีระของทั้งชายหญิง (intersex) ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมี Romantic Orientation (RO) คือ แรงดึงดูดทางใจหรือรสนิยมทางจิตใจด้วย เช่น มีแรงดึงดูดแบบโรแมนติกกับเพศเดียวกัน มีแรงดึงดูดทางใจกับคนต่างเพศ หรืออาจไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับใครเลย (Aromantic) ก็ได้

สำหรับคำว่า LGBTIQAN+ นั้น เป็นคำที่ใช้บอกถึงความหลากหลายทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล อินเตอร์เซ็กซ์ เควียร์ อะเซ็กชวล นอนไบนารี แพนเซ็กชวล และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละคนนั้นอาจมีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงการแสดงออกที่หลากหลายได้ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะยอมรับในความหลากหลายซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และในด้านของกฎหมายเองก็เกิดการพัฒนาโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมและการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่แตกต่างและหลากหลายเช่นเดียวกัน

ในตอนต่อไปของ “กฎหมายใน Pride Month” จะพาไปทำความรู้จักกับ “หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles 2006)” ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

อ้างอิง
1. Yogyakarta Principles 2006
2. องค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children), (2564). แนวทางการทํางานกับเด็กโดยคํานึงถึงความหลากหลาย อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออก และลักษณะทางกายภาพ SOGIESC. https://thailand.savethechildren.net/sites/thailand.savethechildren.net/files/library/SOGIESC_Manual_1.pdf
3. R U OK podcast และ กรองแก้ว ปัญจมหาพร, (2563). SOGIESC หลักการเข้าใจเพศกำเนิด เพศสภาพ และเพศที่อยากให้คนอื่นรับรู้. https://thestandard.co/podcast/ruok195/
4. Sapphicity Podcast, (2564). Sapphicity EP.2 SOGIESC คืออะไร? สำคัญไฉน? มาดูกัน. https://www.thenoizemag.com/2021/12/sapphicity-ep-2/
5. IOM: Full Glossary of Terms to describe sexual orientation, gender identity, gender expression and sex characteristics, (2020) https://migrationnetwork.un.org/resources/iom-full-glossary-terms-describe-sexual-orientation-gender-identity-gender-expression-and
6. อารยา สุขสม, (2022). แนวทางการรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศของประเทศไทย ผ่านมุมมองของกฎหมายต่างประเทศ. SONGKLANAKARIN LAW JOURNAL, Vol.5 No.1 (July-December 2022), 24-43

หมายเหตุ: “กฎหมายใน Pride Month” เป็นบทความพิเศษจากฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กรที่จะนำเสนอในช่วงเดือนมิถุนายนทั้งหมด 4 ตอน ได้แก่ (1) รู้จัก SOGIESC เพื่อเข้าใจความหลากหลายทางเพศ (2) หลักการยอกยากาตาร์ (Yogyakarta Principles 2006) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (3) ทิศทางกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย กับวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภา วันที่ 18 มิถุนายน 2567 และ (4) งานวิจัยกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ


บทความโดย อาจารย์ปิยอร เปลี่ยนผดุง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้และสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา






facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
6/6/2567 17:04:16น. 1303
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน