Kick – Off
ม.พะเยา กับการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ
มหาวิทยาลัยพะเยา Kick – Off เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขแก่ชุมชนและผู้สูงอายุ (Community Health Care) : มุ่งสู่ประชาคม มพ. และประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดี และมีความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม (Societal Well - Being)
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) แล้ว และที่สำคัญ จำนวนผู้สูงอายุไทยยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง จึงส่งผลให้เกิดภาวะไม่สมดุลระหว่างวัยทำงานและวัยพึ่งพิง ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มประชากรสูงอายุยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการทำงานหรือสร้างอาชีพได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการตอบโจทย์กับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับประชากรกลุ่มนี้ ทั้งทางด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม รวมถึงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงจัดโครงการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้อายุ โดยนำร่องในมิติด้านสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ การประเมินสมรรถภาพทางกาย การตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม การตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดกระดูกพรุน การตรวจคัดกรองสุขภาช่องปากและฟัน และการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการให้กับประชาคมผู้สูงอายุในมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 122 คนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่กาจำนวน 18 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป ภายใต้ความร่วมมือจาก คณะสหเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังได้บูรณาการร่วมกับสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัยที่บูรณาการทั้งมิติด้านสุขภาพ ด้านสังคมและการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมีการจัดการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบ onsite และ online โดยหลักสูตร onsite ประกอบด้วย 1. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมทางกายภาพก่อนสูงวัย” โดย คณะสหเวชศาสตร์ 2. หลักสูตร “สร้างความตระหนักในสิทธิและสวัสดิการสังคม” โดย คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมด้านโภชนาการก่อนสูงวัย” โดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมสุขภาพจิตก่อนสูงวัย” โดย คณะพยาบาลศาสตร์ และ 5. หลักสูตร “สร้างอาชีพและวางแผนทางด้านการเงิน” โดย คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ และหลักสูตรในรูปแบบ Online ประกอบด้วย 1. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมทางกายภาพก่อนสูงวัย” โดย คณะสหเวชศาสตร์ 2. หลักสูตร “สร้างความตระหนักในสิทธิและสวัสดิการสังคม” โดย คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมด้านโภชนาการก่อนสูงวัย” โดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. หลักสูตร “เตรียมความพร้อมสุขภาพจิตก่อนสูงวัย” โดย คณะพยาบาลศาสตร์ 5. หลักสูตร “การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ” โดย คณะพยาบาลศาสตร์ และ 6. หลักสูตร “สร้างอาชีพและวางแผนทางด้านการเงิน” โดย คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยพะเยามีนโยบายมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่สุขภาวะที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม (Societal Well - Being) ตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน ตามปณิธานมหาวิทยาลัยพะเยา “ปัญญาเพื่อความเข็มแข็งของชุมชน”
การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะองค์รวมของผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมในอนาคต จะมุ่งสู่การยกระดับศักยภาพของศูนย์ที่สามารถให้บริการในด้านเตรียมความพร้อมสู่สูงวัย ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการรักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพของผู้สูงอายุ และเป็นศูนย์ให้บริการองค์ความรู้ นวัตกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงการเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรในจังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัย และเพิ่มศักยภาพให้แก่แกนนำสุขภาพ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุทธิพงษ์ พลคำฮัก
คณบดีคณะสหเวชศาสตร์