วันอาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. ได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายบำรุง สังข์ขาว กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนเสมือนจริงภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง หลักสูตรธุรกิจปลาสวยงามออนไลน์แบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่รุ่นที่ 2 และคณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิพรพรรณ์ เนื่องเม็ก เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน
โดยการจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการดำเนินการจัดห้องเรียนเสมือนจริงในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าท็อปพลาซ่าพะเยา
อีกเพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจกระบวนการในการจัดการแข่งขันปลากัด โดยจำลองสถานการณ์จริงในการประกวดปลากัด จำนวน 5 ประเภท ได้แก่ ประเภทครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง กลุ่มสีนีโม่ ลวดลายลูกกวาด ลวดลายโค่ย ลวดลายดวงดาว ประเภท ครีบสั้น หางพระจันทร์ครึ่งดวง กลุ่มสีผสมอื่นๆ รวมทุกประเภทสี ประเภทครีบยาว กลุ่มสีเดี่ยว รวมทุกประเภทหางและสี ประเภทครีบยาว กลุ่มสีผสม รวมทุกประเภทหางและสี ประเภทปลากัดเพศเมีย รวมทุกประเภทหางและสี โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ฝึกตั้งแต่กระบวนการ คัดเลือกปลาที่ได้มาตรฐานปลากัดของไทย การเตรียมปลาก่อนประกวด กระบวนการตัดสินของท่านคณะกรรมการ และการประกาศผลรางวัล
ซึ่งภายในงานยังมีการเสวนาเรื่องปลากัด ที่มีผู้รู้ในวงการปลากัดของไทย คุณชูชาติ เล็กแดงอยู่ วิทยากร เอกนครปฐม กูรูปลากัดไทยคุณสราวุธ เตียเจริญ วิทยากร ที่ปรึกษากลุ่ม SME ปลาสวยงามและพันธุ์ไม้น้ำ จังหวัดสุโขทัยคุณณรงค์ชัย สุทธิกุลบุตร ประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดพะเยา ผศ.ดร.เกรียงไกร สีตะพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการประมง ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมอง ด้านความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์ปลากัดป่าของจังหวัดพะเยา รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการจำหน่ายในอนาคต ถึงแม้พะเยาจะเป็นจังหวัดทางภาคเหนือที่มีอุณหภูมิต่ำซึ่งอาจจะมองเป็นข้อจำกัดในการเพาะเลี้ยงปลากัด หากแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส เนื่องจากปลาที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหนาวเย็นในระดับหนึ่งได้ จะมีพัฒนาการถึงระดับยีนที่ทนต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าว ถือเป็นจุดแข็งให้กับปลากัดในพะเยาในอนาคต ส่วนความเป็นไปได้ด้านการตลาดมีแนวโน้มความต้องการปลากัดเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดจากประเทศจีนที่น่าจับตามอง ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้หวังว่าผู้เรียน และผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมจากการเพาะเลี้ยงปลากัดในอนาคตของจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่น่าจับตามอง “ปลากัด สัตว์น้ำประจำชาติของไทย”