วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ วิศวศึกษา ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ 'Transformation: The New Paradigm of Engineering Education" โดยสภาคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 - 8 กันยายน 2566 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท
พิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ วิศวศึกษา ครั้งที่ 19 ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน จากนั้นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยปีนี้ การประชุมวิชาการระดับชาติ วิศวศึกษา ครั้งที่ 19 ได้กำหนดให้มีการจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Transformation: The New Paradigm of Engineering Education” และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกำหนดแนวทางในการกำหนดทิศทางการศึกษาด้านวิศวกรรมในยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันให้ก้าวทันโลกของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยาได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในพันธกิจที่ครอบคลุมทุกด้านเพื่อชุมชนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะและศักยภาพสูง เสริมสร้างบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม มีองค์ความรู้และทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต และพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสู่การสร้างสรรค์และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม เวทีนี้จะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานใหม่ ๆ ทางการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านวิศวกรรมที่สนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์เป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพัฒนาตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง และตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจัดเวทีนำเสนอผลงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดการนำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือทำให้การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการนำเสนอผลงานทั้งหมดจำนวน 33 ผลงาน 4 สาขา ดังนี้
1. การจัดการเรียนการสอน จำนวน 14 ผลงาน
2. การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับการวิจัย บริการวิชาการ จำนวน 9 ผลงาน
3. มาตรฐานคุณภาพ จำนวน 8 ผลงาน
4. กิจกรรมการศึกษา จำนวน 2 ผลงาน
มีการบรรยายพิเศษโดย คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ "วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมไทยและความคาดหวังของการศึกษาวิศวกรรม” และการเสวนาวิชาการ เรื่อง “The New Paradigm of Engineering Education” ในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอบทความ ผลงานวิชาการและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กลุ่มย่อย
สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน มีสมาชิกที่เป็นสถาบันทางวิศวกรรมหลักของประเทศรวม 65 สถาบัน โดยมีกิจกรรมสำคัญในการจัดประชุมวิชาการวิศวศึกษาประจำปีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในงานประชุมนี้ถือเป็นเวทีที่สำคัญที่กลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการ และผู้บริหารของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้เป็นที่นำเสนอเทคนิคใหม่ๆ ทิศทางการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน ทางวิศวกรรมศาสตร์ให้ทันสมัยเข้ากับทิศทางการพัฒนาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งของประเทศและของโลก