วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยผู้ช่วยอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 โครงการการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ขิงอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์สินี เสถียรธราดล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานในพื้นที่บ้านโซ้ ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
คณะศิลปศาสตร์ ดำเนินโครงการ การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ขิงอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
1. แปรรูปผลิตภัณฑ์จากขิงอันเป็นผลผลิตหนึ่งในผลผลิตหลักๆของหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วย ข้าว ฟักทอง หอมแดง กระเทียม หอมแบ่ง ขิง ข้าวโพด และบ่อยครั้งที่เกษตรกรจำต้องไถกลบขิงเพื่อกำจัดผลผลิต เนื่องจากราคาตกต่ำ ดังนั้นหากสามารถแปรรูปขิงให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆที่สามารถจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและการขาดทุนของเกษตรกรได้
2. สร้างช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกษตรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลผลิต และสร้างจำหน่ายได้จริง เพื่อสร้างความยั่งยืนในการผลิต
3. บูรณการองค์ความรู้ตามสาขาที่เชี่ยวชาญเพื่อเผยแพร่นวัตกรรม จากการสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตเกษตรกรที่เพาะปลูกขิงไปจนถึงกระบวนการแปรรูปขิงสำหรับการประชาสัมพันธ์ อันเป็นการสร้างจุดขายหรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับการเล่าเรื่องและการเรียนรู้วิถีชีวิตของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์วุ้นกรอบขิง
การดำเนินงานวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อให้ชุมชนบ้านโซ้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง โดยดำเนินกิจกรรมย่อย 3 กิจกรรมได้แก่ การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย และการอบรมภาษาอังกฤษเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทั้งนี้ชุมชนจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและการตลาด อันจะก่อให้เกิดนวัตกรชุมชน และองค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ผ่านการปฏิบัติ จนนำไปสู่การเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และสร้างงานสร้างอาชีพสำหรับชุมชนและเยาวชนต่อไป