วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรม “จุดประกายความคิด พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ด้วยขยะรีไซเคิล” ภายใต้โครงการส่งเสริมสำนักงานสีเขียว คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2566 ณ ลานเอนกประสงค์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการ คัดแยกขยะ รีไซเคิลขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และส่งเสริมให้บุคลากรมีจิตสำนึก ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการขยะ
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริศักดิ์ ประสานพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการ ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด ภัยพิบัติต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบนโยบาย 3Rs ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle ให้บุคลากร นิสิต และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ตระหนักถึงการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ และได้เน้นย้ำให้บุคลากรและนิสิตร่วมกันคัดแยกขยะให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม ลดการเกิดสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ภายในงาน มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ "มลพิษจากขยะและการรีไซเคิล" โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิทวัส สัจจาพงศ์ เป็นวิทยากรในการบรรยาย โดยได้พูดถึงปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี และได้ยกตัวอย่าง ขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนขยะพลาสติกในทะเล 22.8 ล้าน กิโลกรัม เป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยที่ประเทศอินเดีย เป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนขยะพลาสติกในทะเลมากถึง 126.5 ล้าน กิโลกรัม (อ้างอิงข้อมูลจาก www.euronews.com ในปี 2021) และได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการ Recycle และ Upcycle และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นต้นทางในการนำขยะไป Recycle ต่อไป
อีกทั้งยังมีกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ จากขยะรีไซเคิลที่เกิดขึ้นภายในสำนักงาน เช่น กล่องกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก ไส้กรองเครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น โดยมีบุคลากร นิสิต และแม่บ้าน ร่วมส่งสิ่งประดิษฐ์ทั้งสิ้นจำนวน 13 ผลงาน สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ผลงานที่มีชื่อว่า 3Rs for Life สร้างสรรค์ผลงานโดย นายณรงค์ ปัญสุวรรณ ตำแหน่งคนงาน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประดิษฐ์กระถางดอกไม้จากขวดพลาสติก ซึ่งมีหลากหลายสี และได้สร้างสรรค์อย่างสวยงาม นำไปประดับตกแต่งบริเวณซุ้มสวนดอกไม้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยทุกผลงานที่เข้าประกวดล้วนมากจากความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น โต๊ะกาแฟจากกล่องกระดาษ ถังขยะจากไส้กรองเครื่องฟอกอากาศเป็นต้น และในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดกิจกรรมต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจได้มาทดลองประดิษฐ์ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการดำเนินการตามหลัก 3Rs คือ Reduce Reuse และ Recycle เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน