วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE)
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) คือ การประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น หรือการคืนประโยชน์ให้แก่สังคม โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดมาตรการในการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียน อย่างไรก็ดียังมีคำถามเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม ว่าคือะไร มีกระบวนการจัดตั้งและดำเนินการอย่างไร มีข้อดีอย่างไร เหมือนหรือต่างจาก CSR อย่างไร
วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) คืออะไร
หากพิจาจารณาตามนิยามศัพพ์ตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึง บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายสินค้า หรือการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการและได้จดทะเบียนตามที่กฎหมายนี้กำหนด (มาตรา 3) อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในภาพรวม หมายถึง กิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการดำเดินการเพื่อประโยชน์ทางสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจบูรณาการกับความรู้และนวัตกรรมสังคม เพื่อให้กิจการเกิดความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลสร้างประโชยน์ทางสังคมต่อไป
วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) เหมือนกับธุรกิจในรูปแบบของ (CSR) หรือไม่
การดำเนินกิจการหรือธุรกิจในรูปแบบของ CSR (CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY) หรือ ธุรกิจในรูปแบบที่มีการรับผิดชอบต่อสังคม คือ การดำเนินธุรกิจที่มีการแบ่งปันผลกำไร หรือรายได้บางส่วนมาใช้ในการทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมหรือเพื่อสาธารณะ โดยที่ธุรกิจนั้นยังคงมีเป้าหมายหรือดำเนินการแสวงหากำไรตามปกติ เพราะเป็นเพียงการนำผลกำไรเพียงส่วนเล็กน้อยไปดำเนินการจัดกิจกรรมหรือการคือประโยชน์ทางสังคม
ส่วนกิจการในรูปแบบที่จัดตั้งเป็นองค์กรการกุศล (CSR) เช่น มูลนิธิ ซึ่งแม้ไม่มีการแสวงหากำไร แต่โดยทั่วไปแล้วองค์กรในรูปแบบของ CSR ดังกล่าวมักจะมีรายได้หรือรายรับจากการรับบริจาคเป็นหลัก แต่ วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) จะมีรายได้หรือรายรับมาจากการจำหน่ายสินค้าและ/หรือบริการที่เป็นการส่งมอบที่มีมูลค่าหรือคุณค่าโดยที่กลุ่มลูกค้าหรือผู้รับบริการจาก SE ยินดีจ่าย ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริหาร ซึ่งมิใช่จ่ายเพราะความสงสารหรือความเห็นใจ อันจะทำให้การดำเนินกิจการในรูปแบบ SE มีการดำเนินการและเกิดความยั่งยืนทางการเงินขององค์กรมากกว่า ประการสำคัญ SE จะมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบทางสังคมเป็นสำคัญ โดยผลกำไรที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปลงทุนซ้ำเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมที่มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อสร้างความยั่งยืน
กิจการที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนอกจากจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักแล้ว ต้องมีลักษณะการดำเนินการอย่างไร หรือไม่
กิจการที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ และต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 5)
- มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นหรือคืนประโยชน์ให้แก่สังคมตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
- มีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการ เว้นแต่กิจการที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอาจมีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือการบริการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- นำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ตาม (1) และแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละสามสิบของผลกำไรทั้งหมด โดยให้ถือว่าการลงทุนในกิจการของตนเองซึ่งมีกระบวนการผลิตหรือการบริการที่มีลักษณะตาม (1) หรือการขยายกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ตาม (1) ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเป็นการนำผลกำไรไปใช้เพื่อสังคม
- มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ไม่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เว้นแต่พ้นกำหนดสองปีนับถึงวันยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อขอรับการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามพระราชบัญญัตินี้
- ไม่มีหุ้นส่วน กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วน กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป ในกิจการที่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนตาม (5) เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับการกระทำของนิติบุคคลที่เป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน
วิสาหกิจเพื่อสังคมมีกี่ประเภท
การจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมมี 2 ประเภท คือ
(1) วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น
(2) วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น
โดยวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นตาม (1) ให้สามารถดำเนินการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดได้ โดยให้ถือว่าวัตถุประสงค์ในการนำผลกำไรไปใช้เพื่อสังคมเป็นการแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้ในกิจการที่ทำนั้น ส่วนในกรณีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของวิสาหกิจเพื่อสังคมในภายหลังสามารถทำได้ทั้ งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (มาตรา 6)
การจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องดำเนินการอย่างไร
ประกาศสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบการขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 กำหนดให้กิจการใดที่ประสงค์จะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตนเอง ณ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือส่งทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (https://www.osep.or.th/) หรือวิธีการอื่น ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกำหนด
วิสาหกิจเพื่อสังคมมีสิทธิได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในด้านใดบ้าง
วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนตามกฎหมายมีสิทธิได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ในหลายด้านดังต่อไปนี้ (มาตรา 59)
(1) ความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนส่งเสิรมวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น เงินกู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น, ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการประกอบกิจการในระยะเริ่มแรก มีกำหนดเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยสามารถขยายกำหนดระยะเวลาได้รวมแล้วไม่เกิน 4 ปี เป็นต้น
(2) สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 38) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากร)
สำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
(3) สิทธิประโยชน์ตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
(5) สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นกำหนด
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) https://www.osep.or.th