วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย นำทีมคณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี บุคลากร มหาวิทยาลัยพะเยา ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านสถาน อำเภอภูซาง ร่วมเก็บเกี่ยวสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ภายใต้โครงการการสร้างเครือข่ายงานเชิงพื้นที่ “ภูกามยาวโมเดล” กับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ (เภสัชกรยิปซี ผู้คิดค้นยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ของประเทศไทยและของโลก) และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายเทวา ปัญญาบุญ ซึ่งปลูกในพื้นที่ของโรงเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสถาน นายเอกรัตน์ กันทะเนตร คณะครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านสถาน ประชาชนในชุมชน ร่วมต้อนรับ ซึ่งสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่เก็บเกี่ยวในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้นำไปสาธิตการแปรรูปฟ้าทะลายโจร ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับความร่วมมือจากคณบดีและตัวแทนจาก คณะเภสัชศาสตร์ คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตรและทรัพยากรธรรมชาติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาในพื้นที่ร่วมกับชุมชน
จากนั้น ออกเดินทางจากอำเภอภูซาง ไปดูพื้นที่ใหม่ จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่
1. ดูพื้นที่ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง
2. ดูพื้นที่ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง
“ภูกามยาวโมเดล” โครงการผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพจังหวัดพะเยา โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ประธานมูลนิธิกฤษณา ไกรสินธุ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพะเยา บริษัท ทิปโก้ ไบโอเทค จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ พื้นที่จังหวัดพะเยา ได้แก่ อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอภูกามยาว และ อำเภอจุน ร่วมกันขับเคลื่อนการปลูกสมุนไพรแบบอินทรีย์เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ภายใต้ “ภูกามยาวโมเดล” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพะเยา เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพโดยใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นต้นแบบ เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม ให้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพะเยา เกิดการตระหนักให้กับชุมชนในการใช้สมุนไพรที่มีคุณภาพและเกิดพื้นที่ต้นแบบการผลิตสมุนไพรคุณภาพในการขยายผลในระยะต่อไป ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ร่วมสำรวจความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกฟ้าทะลายโจร ซึ่งเน้นการปลูกแบบอินทรีย์และให้ชุมชนเป็นกลไกหลักในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้จะมีการเรียนรู้ต้นแบบพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจาก “ลังกาสุกะโมเดล” จังหวัดนราธิวาส “สามหมื่นโมเดล” จังหวัดตาก และ “จัมปาศรีโมเดล” จังหวัดมหาสารคาม
โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการวัดค่าอินทรียวัตถุในดิน จากการเก็บตัวอย่างคือจำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. โรงเรียนบ้านสถาน อำเภอภูซาง 2. สวนสมุนไพรป้าเพ็ญตำบลออย อำเภอปง 3. สวนสาธารณะดงก้นฝาย อำเภอเชียงม่วน และ 4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อำเภอจุน จากผลการวัดค่าอินทรียวัตถุในดินพบว่าผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 พื้นที่ ปัจจุบันได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในการเพาะเมล็ดฟ้าทะลายโจรอนุบาลต้นกล้าจนสามารถนำไปปลูกได้จำนวน 10,000 ต้น โดยจะกระจายปลูกตามพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง เมื่อต้นกล้าเติบโตมีอายุที่สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว บริษัท ทิปโก้ ไบโอเทค จำกัด จะนำใบของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปตรวจเพื่อวัดค่าสารสำคัญให้ได้ตามมาตรฐาน และรับซื้อเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพในนาม “ภูกามยาวโมเดล” โดยมีตราสัญลักษณ์ที่เป็นภาพนกยูงรำแพน ซึ่งมีความหมายเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของจังหวัดพะเยา โดยการออกแบบของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
นอกจากการสร้างประโยชน์ในแง่สุขภาพและการตลาดให้แก่ชุมชนแล้ว โครงการภูกามยาวโมเดล ยังทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) สมุนไพรคุณภาพให้แก่เยาวชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้ สู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป