วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2565 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้จัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมใหญ่สามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2565 โดยมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวต้อนรับ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธานในการประชุม และผู้แทนสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา
ในการนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมใหญ่สามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2565 โดยวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ในช่วงเช้าได้มีการนำคณะกรรมการ/คณะทำงานประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมชุมชนอีสานล้านนา บ้านจำไก่ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา Learning Space และในช่วงค่ำ มหาวิทยาลัยพะเยาในฐานะเจ้าภาพ จัดเลี้ยงต้อนรับและมอบของที่ระลึก โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เชิญชวนมาม่วนใจ ร่วมกินร่วมใช้ของชุมชน "กาดหล่ายต้า ณ มหาวิทยาลัยพะเยา" ประธานที่ประชุมอธิการบตีแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ตร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยพะเยา จากนั้นชมการแสดง "ฟ้อนปีติยินดี ม.พะเยา" และในช่วงท้ายได้มีการจุดดวงประทีป ปล่อยโคมลอย
โดยมีความเชื่อว่าแสงประทีปจากโคมจะช่วงส่องประกายให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข
ชาวล้านนาจึงนิยมปล่อยโคมขึ้นฟ้าและจุดประทีปตามไว้ตามบ้านเรือน
ภายในงานประชุม มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดแสดงนิทรรศการ LEARNING ROUTE @ PHAYAO LEARNING CITY จากการดำเนินการลงพื้นที่เพื่อบริการวิชาการและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับชุมชน Earn credit banks from UP เก็บหน่วยกิตมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 26 พื้นที่ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สังคมและประเทศชาติ พร้อมมุ่งสู่การนำนวัตกรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน โดยยึดหลักการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็น “มหาวิทยาลัยสร้างปัญญาเพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล อย่างยั่งยืน” (University for Community Innovation with International Standard)
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) Council of University Presidents of Thailand เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของอธิการบดีมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จัดให้มีการประชุม พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ในการประสานงานกันระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น เสนอความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอุดมศึกษาของประเทศ และผลักดันความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นให้เกิดผลต่อไป