กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund: PVD)

3/8/2565 14:25:11น. 4137
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund PVD), พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund: PVD)

คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสิรมให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ตลอดจนส่งเสริมการระดมเงินออมของภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวได้วางหลักเกณฑ์การดำเนินการและการบริหารจัดการกองทุนไว้เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความมั่นคงและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

โดยกฎหมายกำหนดให้การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นไปโดยความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งและมีขั้นตอนของการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีการบริหารเงินกองทุนและกลไกการกับดูแลตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน โดยเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้น มาจาก 2 ส่วน คือ 1. เงินที่ลูกจ้างนำส่ง เรียกว่า "เงินสะสม" และ 2. เงินที่นายจ้างนำส่ง เรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งจะต้องมีการนำส่งเป็นประจำทุกเดือน โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนโดยการตกลงให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยกฎหมายกำหนดให้การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบจะต้องไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง ทั้งนี้ แต่ละกองทุนฯ อาจมีการกำหนดการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบที่แตกต่างกันตามที่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนฯ




หมายเหตุ - กรณีของบริษัท C. จำกัด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่นายจ้างให้สิทธิลูกจ้างนำส่งเงินสะสมได้ในอัตรา 5% ถึง 15% ของค่าจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างมีช่องทางในการสะสมและออมเงิน (ตามความสามารถในการบริหารค่าจ้างของลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างกำหนดอัตราเงินสมทบของนายจ้างไว้ในอัตราคงที่ ซึ่งไม่กระทบภาระการเงินของฝั่งนายจ้าง) โดยวิธีการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างในการวางแผนภาษีเงินได้ เพราะเงินสะสมไว้นำส่งเข้ากองทุนฯ จะถูกนำไปลดหย่อนภาษีประจำปี และเป็นประโยชน์เมื่อออกจากงาน โดยเฉพาะเมื่อเกษียณอายุงาน เพราะเงินสะสมและผลประโยชน์จากองทุนฯ จะรับการยกเว้นไม้ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้ทำให้ลดภาระทางภาษีได้จำนวนมาก

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนอกจากจะเป็นช่องทางในการส่งเสริมให้ลูกจ้างออมเงินอย่างต่อเนื่องและมีวินัยแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่ให้แก่ลูกจ้างเพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ โดยเงินกองทุนดังกล่าว (เงินสะสม+เงินสมทบ) จะถูกนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มี "บริษัทจัดการ" ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนมืออาชีพที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและมีกลไกทางกฎหมายในการกำกับดูแล โดยบริษัทจัดการจะบริหารกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่สมาชิกกองทุนได้เลือกไว้ เช่น เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ หรือการลงทุนในหุ้น เป็นต้น โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่สมาชิกแต่ละรายมีอยู่ในกองทุน อย่างไรก็ดีกองทุนฯ จะไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้แก่สมาชิก แต่จะสะสมเงินและผลประโยชน์จาการบริหารกองทุนเพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้แก่สมาชิกเมื่อ “สิ้นสุดสมาชิกภาพ” เช่น เมื่อลาออกจากงาน เกษียณอายุงาน หรือเสียชีวิต เป็นต้น โดยที่ในระหว่างเป็นสมาชิกกองทุนฯ จะไม่สามารถถอนเงินสะสมบางส่วนออกมาได้ เพราะการจัดตั้งกองทุนฯมีวัตถุประสงค์เพื่อการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ

ในกรณีที่ความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมที่ตนเองนำส่งเต็มจำนวน พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม แต่ในส่วนของเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งไว้และผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน “ข้อบังคับกองทุน” ซึ่งแต่ละกองทุนฯ อาจกำหนดไว้แตกต่างกัน ซึ่งส่วนมากจะกำหนดให้จ่ายในอัตราร้อยละตามระยะเวลาของการเป็นสมาชิกกองทุน

นอกจากนี้ในกรณีที่ลูกจ้างเปลี่ยนงาน ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนมีสิทธิสะสมเงินต่อเนื่องได้ เช่น โอนเงินจากกองทุนของนายจ้างเดิมไปยังกองทุนของนายจ้างรายใหม่ (ถ้ามี) หรือโอนไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับเงินโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ (RMF for PVD) ซึ่งการออมแบบต่อเนื่องจะช่วยทั้งด้านการวางแผนทางการเงินเมื่อเกษียณอายุงาน รวมทั้งการวางแผนภาษีเงินได้


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับลูกจ้าง ใน 3 เรื่อง คือ

1. บริหารกองทุนด้วยนักบริหารมืออาชีพ คือ จะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งดำเนินการโดยผู้จัดการกองทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามที่กำหนด โดยมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น ลงทุนในตราสารตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นของบริษัทไทย และหุ้นของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของตนเองได้

2. “ออมเงินสะสมของตนเองและได้เงินสมทบจากนายจ้าง ตามกฎหมายสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสิทธิส่ง “เงินสะสม” เข้ากองทุนเพื่อเก็บออมเป็นเงินออมทุกเดือนได้ตั้งแต่ 2% จนถึง 15% ของค่าจ้าง ซึ่งจะมีสิทธิได้รับ “เงินสมทบ” จากนายจ้างตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 15% ของค่าจ้าง ทั้งนี้ เป็นไปเงื่อนไขที่ระบุในข้อบังคับกองทุนฯ เช่น บริษัท A เงิน นาย ก. ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ มีเงินเดือน 40,000 บาท ส่งเงินสะสมในอัตรา 5% ของค่าจ้าง คิดเป็นเงิน 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนบริษัท A (นายจ้าง) ก็ต้องส่งเงินสมทบให้ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง คิดเป็นเงิน 2,000 บาท จึงเท่ากับลูกจ้างได้รับเงินเพิ่มอีก 2,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวจะถูกนำไปลงทุนให้เกิดดอกผลต่อไป โดยที่สมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าว ต้องพิจารณาตามข้อบังคับกองทุน ซึ่งโดยทั่วไปมักกำหนดให้ได้รับเงินสมทบในลักษณะขั้นบันไดเพิ่มขึ้นตามอายุการทำงานและการเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อตอบแทนและสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างต่อเนื่องนานขึ้น เช่น หากสมาชิก “สิ้นสุดสมาชิกภาพ” โดยเป็นสมาชิกกองทุนไม่ครบ 1 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ แต่หากเป็นสมาชิกกองทุนครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 5 ปี จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ 20% และหากเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเต็ม 100% เป็นต้น

3. สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้” โดยกฎหมายมุ่งส่งเสริมและจูงใจให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงกำหนดให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยแยกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • 3.1 นำเงินสะสมในแต่ละปีภาษีไปลดหย่อนภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,00 บาท ดังนั้น ยิ่งส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมากเท่าใดลุกจ้างก็จะประหยัดภาษีมากขึ้น เพราะเงินได้สุทธิที่จะถูกนำไปคำนวณเป็นฐานเงินได้ในการภาษีจะลดน้อยลง
  • 3.2 ผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกองทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ รวมถึงกรณีที่กองทุนฯ ฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะไม่ถูกหักภาษี 15% ของดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับที่ได้รับจากผู้รับฝากหรือผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้น ทำให้สมาชิกกองทุนฯ ได้รับประโยชน์จากการถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไปด้วย
  • 3.3 สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน กรณีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ออกจากงานและได้รับเงินจากกองทุนฯ คือ (1) เงินสะสม+ผลประโยชน์ของเงินสะสม และ (2) เงินสมทบ +ผลประโยชน์ของเงินสมทบ ซึ่งตามกฎหมายเงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้ประเภทค่าจ้างที่ผู้รับเงินจะต้องเสียภาษี แต่ตามกฎหมายได้มีการยกเว้นเพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้างออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีที่สมาชิกได้รับเงินคืนจากกองทุนฯ โดยมีเงื่อนไขใน 3 กรณี ดังนี้

(ก) กรณีออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ คือ กรณีที่ออกจากงานเมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน กรณีนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้งหมดตอนนำเงินออกจากกองทุน แต่หากเป็นกรณีที่สมาชิกลาออกจากงานเมื่อมีอายุครบ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนยังไม่ครบ 5 ปีต่อเนื่อง จะต้องนำเงิน 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ดังนั้น กรณีที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบใช้เงินก้อนนี้และต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิม เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรือโอนย้ายเงินกองทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) เพื่อลงทุนจนครบระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่อง (นับรวมอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF for PVD) จึงถอนเงินออกจากกองทุน เช่นนี้ ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเช่นกัน

(ข) กรณีออกจากงานก่อนเกษียณอายุ คือ กรณีที่สมาชิกออกจากงานเมื่ออายุยังไม่ครบ 55 ปี ถึงแม้จะเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้วก็ตาม กรณีนี้จะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนั้น หากสมาชิกอยากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจพิจารณาโอนเงินไปยัง RMF for PVD หรือคงเงินไว้ในกองทุนเดิม จนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน แต่หากสมาชิกต้องการนำเงินออกจากกองทุนพร้อมกับที่ลาออกจากงาน โดยไม่รอให้อายุครบ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปีตามเงื่อนไขแล้ว เมื่อสมาชิกได้รับเงินจากกองทุน จะต้องนำเงิน 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ไม่ต้องนำเงินส่วนที่เป็นเงินสะสมที่ได้รับคืนจากกองทุนไปรวมคำนวณภาษี) อย่างไรก็ดี สิทธิในการเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีที่สมาชิกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีทางเลือกในการยื่นภาษี 2 ทาง คือ ทางเลือกแรก นำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หรือ ทางเลือกที่สอง นำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวแยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้อื่น โดยกรมสรรพากรกำหนดให้สามารถนำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายในจำนวน 7,000 บาทที่คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เมื่อหักแล้วเหลือเท่าใด ให้หักค่าใช้จ่ายอีก 50% ของเงินที่เหลือนั้น แล้วจึงนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ตามกฎหมาย ตัวอย่าง นาย ก. ทำงานมาครบ 10 ปี และลาออกจากงานโดยได้รับเงินกองทุน 3 ส่วน (คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี รวมจำนวน 1,000,000 บาท นาย ก.จะต้องนำเงินจำนวน [1,000,000 - (7,000 *10)] *50% = 465,000 บาท ไปคำนวณภาษีทั้งหมดโดยไม่ได้รับการยกเว้น

(ค) กรณีออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน คือ กรณีที่ลูกจ้างลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน กรณีนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น ที่ไม่ต้องนำเงินสะสมไปรวมคำนวณภาษี แต่จะต้องนำเงินกองทุนอีก 3 ส่วน (คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งจะทำให้เกิดภาระทางภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับลูกจ้าง ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นไม่ควรออกจากกองทุนในระหว่างที่เป็นลูกจ้าง และบางกองทุนอาจมีข้อบังคับห้ามการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีก หรือมีการจำกัดการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกภายใต้เงื่อนไข เช่น สมัครเป็นสมาชิกได้รวมแล้วไม่เกิน 2 ครั้ง และต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น


เรียบเรียงโดย

อาจารย์ประฐมพงษ์ ทองรอด, รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย และทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยพะเยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดม งามเมืองสกุล, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


--------------------------------

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ https://www.thaipvd.com
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   udom.ng@up.ac.th   
3/8/2565 14:25:11น. 4137
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2024

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน