วันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ สาขาดุริยางคศาสตร์สากล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดการสัมมนาวิชาการดนตรี "พิณเปี๊ยะ ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา" ภายใต้โครงการสืบสานวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ณ ห้อง UBOO5 อาคาร ๙๙ ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺ โญ) มหาวิทยาลัยพะเยา
รองศาสตราจารย์ จันทนี เพชรานนท์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็นการนำดนตรี ซึ่งเป็นศิลปะที่มีความงดงาม ใช้เสียงเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไปสู่ผู้ฟัง เป็นสุนทรียศาสตร์ที่ง่ายต่อการสัมผัส ก่อให้เกิดความสุข ความปิติพึงพอใจให้แก่มนุษย์ จึงมีคำกล่าวว่า "ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ" เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และมนุษย์ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขให้ประณีตงดงามไพเราะ รู้สึกภูมิใจที่มหาวิทยาลัยพะเยา เห็นความสำคัญของมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมอันมีคุณค่า ซึ่งเป็นภารกิจหลักด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ควรสืบสาน สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มีคุณค่าในอดีต รับใช้สังคมให้เกิดความสุข และรักษาสมบัติของชาติให้คงอยู่สืบไป
อาจารย์ สันติ ศิริคชพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาดนตรีและนาฎศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้จัดโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พิณเปี๊ยะ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีอันล้ำค่าของชาวล้านนา ที่โบราณกาลได้คิดสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญา สืบสานผ่านกาลเวลามาจวบจนปัจจุบัน ควรค่าที่อนุชนคนรุ่นหลังช่วยกันสืบสาน รักษาให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป
การสัมมนาในวันนี้ได้รับเกียรติจาก คุณธัญยพร อุตุธรรมชัย ว่าที่ร.ต.เอกรินทร์ อินต๊ะวิกูล และว่าที่ร.ต.ณัฐพัฒน์ จันหลวง ได้ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ "พิณเปี๊ยะ ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา" เป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเครื่องดนตรีพิณเปี๊ยะ ต่อจากนั้นวิทยากรทั้ง ๓ ท่านได้ทำการแสดงเพลงดนตรีพิณเปี้ยะ ดนตรีบทเพลงล้านนาด้วยความไพเราะ