สาระสำคัญ (บางประการ) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายสมรสเท่าเทียม

26/9/2567 10:00:28น. 273
สาระสำคัญ (บางประการ) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายสมรสเท่าเทียม
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 24 กันยายน 2567 และนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปอีก 120 วัน โดยบุคคลเพศเดียวกันจะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568

จากที่เคยได้ทำเสนอไปแล้วในบทความ “กฎหมายใน Pride Month” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 เป็นการแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 ว่าด้วยการสมรส และบรรพ 6 ว่าด้วยมรดกในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับคู่สมรส ดังนั้น นอกจากเรื่องการหมั้นและการสมรสที่บุคคลเพศเดียวกันสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่ต่อกันในฐานะคู่สมรสยังมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกด้วย

สาระสำคัญ (บางประการ) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายสมรสเท่าเทียม

1. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จะทำการหมั้นหรือการสมรสจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล”
2. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่หมั้นกันแล้ว จาก “ชายและหญิงคู่หมั้น” เป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น”
3. เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จาก “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
4. อายุขั้นต่ำที่สามารถทำการหมั้น-การสมรส: เพิ่มจากอายุขั้นต่ำ 17 ปี เป็น “18 ปี” (แต่เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะ การสมรสของบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองอยู่)
5. เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 3 จาก “ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส”
6. คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ของอีกฝ่ายได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463)
7. เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 4 จาก “ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส”
8. การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสทั้งเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรสระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกันยังคงใช้หลักการเดิมใน ป.พ.พ. กล่าวคือ สินสมรสที่คู่สมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
9. ในส่วนความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคู่สมรสมีการเพิ่มเติมส่วนของ “กระทำหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น” เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงเรื่องการ “ร่วมประเวณี” เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบที่หลากหลายในความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สมรส
10. คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ (มาตรา 1598/26)
11. คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายในฐานะทายาทโดยธรรม ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น



ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ครอบคลุมมากกว่าเพียงแค่ “ชายและหญิง” เท่านั้น และผลจากการที่บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสและอยู่ร่วมกันในฐานะคู่สมรสตามกฎหมายได้ ทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิที่เท่าเทียมมากขึ้น เช่น บุคคลสัญชาติไทยที่ประสงค์จะสมรสกับบุคคลสัญชาติอื่นก็สามารถสมรสกันตามกฎหมายไทยได้ บุคคลเพศเดียวกันที่จะทะเบียนสมรสกันแล้วสามารถใช้สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาลในฐานะคู่สมรสได้ เป็นต้น

นี่เป็นก้าวแรกเท่านั้นในการสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องได้รับการแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่ โดยเฉพาะกรณีที่กฎหมายนั้นมีการใช้คำระบุสถานะโดยแบ่งแยกเพศหรือมีการเลือกปฏิบัติทางเพศในบทบัญญัติที่ไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง เมื่อมีการแก้ไขแล้ว คู่สมรสเพศเดียวกันก็จะสามารถใช้สิทธิต่าง ๆ เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่ายตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ๆ เช่น การยื่นแบบเสียภาษีร่วมกันในฐานะคู่สมรส การได้รับการหักลดหย่อนภาษีเงินได้จากเงินที่ได้รับจากคู่สมรสโดยเสน่หา สิทธิที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคมในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิของคู่สมรส รวมถึงสิทธิในการสร้างครอบครัวอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 (กฎหมายว่าด้วยการตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญ) เป็นต้น

นอกจากการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ก็ยังมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศฉบับอื่น ๆ ที่ยังรอการพิจารณาอยู่ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือความรับรู้เกี่ยวกับตัวตนทางเพศที่บุคคลนั้นมีต่อตนเอง (gender recognition) รวมไปถึงการกำหนดทิศทางในการปฏิบัติของคนในสังคมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมเพื่อสร้างการเข้าถึงความยุติธรรมในทุกมิติ



The Thai Marriage Equality Bill Finally Becomes the Law



The Marriage Equality Bill, allowing same-sex marriage, has been published in the Royal Gazette after receiving royal endorsement. The law will come into effect in 120 days, which means same-sex partners will be able to register their marriage by 23 January 2008.


The significant amendment to the Civil and Commercial Code is the replacement of the binary terms such as "men and women" and "husband and wife" with gender-neutral and more inclusive terms such as "individuals" and "spouses". Resulting from the recognition of same-sex marriage, same-sex couples shall have access to spousal rights, duties, and benefits like heterosexual couples, such as rights to marital property, adoption, and inheritance. Other crucial change is the amendment of the legal age to marry from 17 years of age to 18 years for the purpose of child protection.

This notable milestone of equal marriage rights in Thailand, nonetheless, there are other related laws to be amended, such as surrogacy law, labor law, and other welfare-related laws since some of these legislations contain discriminating and gender-based limitation terms or contents. There are other draft gender equality legislations waiting to be discussed and approved to ensure the protection and rights of LGBTIQAN+, especially the gender identity recognition bill.


Translation and Briefing: Piya-orn Plianpadoong (School of Law, University of Phayao)



อ้างอิง (references)

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/36482.pdf?fbclid=IwY2xjawFgYORleHRuA2FlbQIxMAABHXbquppII1JJw31Ks4ZjWVDLC_4W0RNgkSQWtoHX3HmmqdC4_6dOQ0cTVA_aem_P5WMjDiC_Up2uMuGTw6oiQ
ปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ในหัวข้อ “สมรสเท่าเทียม : การคุ้มครองกฎหมายไทย“ https://x.com/bangkokpride_/status/1838535562405515551
สมรสเท่าเทียม : เปิดกฎหมายแพ่งแก้ไขใหม่ บุคคล-บุคคล สมรสได้ ไม่จำกัดแค่ชาย-หญิง: https://www.ilaw.or.th/articles/43563 Marriage Equality Bill becomes law https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2871458/marriage-equality-bill-becomes-law


บทความโดย: อ. ปิยอร เปลี่ยนผดุง (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา)



บทความที่เกี่ยวข้อง (Related articles)
1. กฎหมายใน Pride Month 1: SOGIESC https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32081
2. กฎหมายใน Pride Month 2: หลักการยอกยาการ์ตา https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32180
3. กฎหมายใน Pride Month 3: ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=32213
4. กฎหมายใน Pride Month 4: สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ https://www.up.ac.th/NewsReadBlog2.aspx?itemID=32274

อ่านบทความและรับชมสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับความรู้ทางกฎหมายได้ใน: คลังความรู้ คณะนิติศาสตร์ https://law.up.ac.th/KM.aspx





facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
26/9/2567 10:00:28น. 273
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน