กฎหมายกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

27/8/2567 15:46:40น. 110
กฎหมายกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

กฎหมายกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีฐานะเป็นกฎหมายแม่บทด้านการจัดการน้ำที่ มีการบูรณาการเกี่ยวกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ สำหรับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้อย่างไร จะได้หยิบยกมาอธิบายในบทความนี้

ภาวะน้ำท่วม หมายความว่า สภาวะที่ปริมาณน้ำ ปริมาณการไหลของน้ำหรือระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือไหลหลาก หรือฉับพลันจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ และพืชที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่รวมถึงภาวะน้ำขึ้นและน้ำลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติตามธรรมชาติ


1. การจัดทำผังน้ำ

การจัดทำผังน้ำมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตลำน้ำ พื้นที่รับน้ำหลากปีน้ำปกติ พื้นที่รับน้ำหลากปีน้ำมากและพื้นที่รับน้ำหลากปีน้ำวกฤติ และเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานราชการในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสงวนรักษาระบบทางน้ำธรรมชาติและทางน้ำสาธารณะสำหรับเป็นทางระบายน้ำ กระจาย รวบรวม และลำเลียงน้ำภายในลุ่มน้ำให้มีระดับที่เหมาะสม หากการใช้ประโยชน์ที่ดินลักษณะใดจะก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง


2. แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับการเกิดน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และการเกิดน้ำท่วมกรณีฉุกเฉิน รายการในแผนดังกล่าวต้องประกอบด้วยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ การจัดเตรียมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม การจัดระบบเตือนภัยน้ำท่วม วิธีการระบายน้ำ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


3. การผันน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

การผันน้ำเป็นการส่งน้ำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยทั่วไปจะผันน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น และเขตพื้นที่เศรษฐกิจ หากเป็นการผันน้ำภายในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน เป็นอำนาจทั่วไปของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เช่น ผันน้ำจากลุ่มน้ำยมไปลุ่มน้ำน่าน เป็นอำนาจของนากยกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ


4. อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวาง ตัดฟันต้นไม้ ขุดดิน ปิดกั้นแนวเขตที่ดิน รื้อถอนสิ่งก่อสร้างซึ่งมิใช่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของบุคคลใด ๆ หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นแก่การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม นอกจากนี้ ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างของบุคคลใด ๆ เพื่อก่อสร้าง วางสิ่งของ สูบน้ำหรือระบายน้ำผ่านหรือเข้าไปในที่ดิน โดยแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนจะมีการดำเนินการ เว้นแต่กรณีฉุกเฉินมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า


5. การคุ้มครองสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งของที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีขึ้น

ห้ามมิให้บุคคลใดเอาไป ยักย้าย ทำอันตราย หรือทำให้เสียหายแก่สิ่งก่อสร้าง สิ่งของ หรืออุปกรณ์ใด ๆ หรือมาตรการใด ๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


6. ค่าชดเชยความเสียหาย

แบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีแรก ค่าชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยตรงของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ความเสียหายจากการผันน้ำ การระบายน้ำ การขุด การเจาะคันคูในที่ดินของเอกชน ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561


กรณีที่สอง ค่าชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติในฐานะผู้ประสบภัยพิบัติ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากน้ำป่า น้ำท่วม หรือน้ำหลากตามธรรมชาติ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ผู้ประสบภัยพิบัติมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562




เรียบเรียงโดย ผศ. วีระยุทธ หอมชื่น




facebooktwitterline

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาพ :      
ข้อมูล/ข่าว :      
เพิ่มข่าวโดย :   krittabhorn.ju@up.ac.th   
27/8/2567 15:46:40น. 110
Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน