ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา

15/5/2567 10:14:23น. 659
ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา



ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา


          ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทองของมหาวิทยาลัยพะเยา เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยการศึกษา และคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้ง ๓ คณะ เดิมทีเคยรวมอยู่ในคณะเดียวกัน คือ คณะศิลปศาสตร์ เมื่อมีหลักสูตรและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจึงต้องแยกส่วนงานไปตามความเชี่ยวชาญของตน คณาจารย์และนิสิตจึงมีแนวคิดให้ทั้ง ๓ คณะ มีกิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้เกิดความรักและสามัคคีร่วมแรงร่วมใจเฉกเช่นเมื่อครั้งยังอยู่รวมในคณะเดียวกัน และพะเยา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนหกเป็งตามคติล้านนาโบราณ กระทำขึ้นด้วยความเคารพ ศรัทธา ที่ชาวมหาวิทยาลัยพะเยามีต่อ “องค์พระธาตุจอมทอง” โดยชาวพุทธเชื่อกันว่าการนำผ้าขึ้นถวายห่มคลุมรอบพระธาตุเจดีย์นั้น เสมือนได้น้อมถวายผ้าไตรแด่พระพุทธองค์ นับเป็นมงคลสูงสุด กุศลมากล้นพ้นประมาณ ด้วยอานิสงส์แห่งผลบุญจะนำพาให้พบแต่ความสุขความเจริญในชีวิต ถือเป็นการเริ่มต้นประเพณีที่ดีงามของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสืบทอดรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของคนรุ่นเก่า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า เราสามารถใช้ความทันสมัยรักษาสิ่งดีงามที่มีมาแต่อดีตให้ดำรงอยู่สืบไปโดยไม่ล้าสมัย ถือเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของประเพณีในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยาเชื่อว่า การอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด และรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ ไม่ใช่ภาระของคนรุ่นเก่า แต่คือหน้าที่ ที่เราทุกคนต้องช่วยกัน มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้หยิบยก “ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง” ขึ้นมาถือปฏิบัติอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง


          ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยพะเยา และได้รับการส่งเสริมด้วยดีจาก วัดศรีโคมคำพระอารามหลวง โบราณสถานพระธาตุจอมทอง จังหวัดพะเยา โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา ส่วนราชการในจังหวัดพะเยา ชุมชนเมือง ๑๔ ชุมชน และชุมชนบ้านแท่นดอกไม้ หมู่ที่ ๑๑ และหมู่ที่ ๑๗ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโบราณสถานพระธาตุจอมทอง ประเพณีดังกล่าวได้สะท้อนพันธกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างเป็นรูปธรรม จากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความสามัคคีของบุคลากรมหาวิทยาลัยพะเยาที่มีส่วนร่วมในประเพณี ได้พร้อมใจกันน้อมถวายผ้าความยาว ๓๖ เมตร ขึ้นห่มพระธาตุจอมทองและน้อมถวายผ้าห่มพระประจำฤดูร้อนห่มพระประธาน ทั้งนี้ทุกคนได้พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดเวียง ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แนวความคิดจากภูมิปัญญาของชาวไทลื้อ ในประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มีการนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ ๘ แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าที่มีภูมิลำเนาหรือมีที่พำนักในจังหวัดที่แหล่งน้ำไหลผ่าน ร่วมทำพิธีตักน้ำเพื่อนำมาสรงพระธาตุจอมทอง คือ “แม่น้ำปิง” จังหวัดเชียงใหม่, “แม่น้ำวัง” จังหวัดลำปาง, “แม่น้ำยม” จังหวัดแพร่, “แม่น้ำน่าน” จังหวัดน่าน, “แม่น้ำโขง” จังหวัดเชียงราย, “แม่น้ำอิง” จากกว้านพะเยา จังหวัดพะเยา “แม่น้ำคงคา” จาก สาธารณรัฐอินเดีย และ “น้ำอ่างหลวง” จากแหล่งเก็บน้ำภายในมหาวิทยาลัยพะเยา แหล่งน้ำสำคัญซึ่งใช้หล่อเลี้ยงบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดพิธีตักน้ำจากอ่างหลวง พิธีรวมน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญและเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญทั้ง ๘ แห่ง มาทำน้ำสำหรับใช้สรงพระธาตุจอมทองเพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นของผู้เข้าร่วมโครงการ ในส่วนของการแสดงฟ้อนพื้นบ้านล้านนาเชิงสร้างสรรค์ที่มีชื่อว่า “ฟ้อนปัญญาเรืองรอง ม่วงทอง ม.พะเยา” ซึ่งมีครูอริณ พูลเกษม ครูภูมิปัญญาด้านนาฏศิลป์พื้นถิ่นล้านนา จ.พะเยา กรุณาช่วยสร้างสรรค์ท่าฟ้อน โดยการฟ้อนของนิสิตทั้ง ๓ คณะ เป็นจุดที่น่าสนใจของประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง โดยท่าฟ้อนที่อ่อนช้อยงดงามนี้ เป็นการนําศิลปะการฟ้อนพื้นเมืองโบราณล้านนา อาทิ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ฟ้อนตบมะผาบ และฟ้อนก๋ายลาย มาประยุกต์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องสักการะที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยมีแบบอย่างมาจากเครื่องสักการะแบบล้านนาโบราณ อาทิ ๑.พุ่มดอก ๒.พุ่มพลู ๓.หมากสุ่ม ๔.หมากเบ็ง ๕.ต้นผึ้ง ๖.ต้นเทียน ๗.ต้นธง ซึ่งนิสิตได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนและในวันหยุดมาซ้อมฟ้อน ช่วยกันประดิษฐ์เครื่องสักการะด้วยความสามัคคีและศรัทธาที่มีต่อพระธาตุจอมทอง ทำให้นิสิตได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนาผ่านกิจกรรมดังกล่าวนี้ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับนิสิตที่ได้มีส่วนร่วมในงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก ประเพณีนี้นอกจากเป็นการการรักษาทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”


             มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ยกประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง ขึ้นเป็นหนึ่งใน Super KPI ในด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้ทุกคณะฯ และทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะศิลปศาสตร์ได้นำข้อมูลต่าง ๆ ในประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทองต่อยอดเป็นงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับเครื่องสักการะล้านนาโบราณ โดยนำองค์ความรู้จากรายวิชาคติชนวิทยาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยมาเชื่อมโยง อีกทั้งได้วางแผนนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากงานวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ได้จากประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง บรรจุเป็นเนื้อหาในรายวิชาพะเยาศึกษาและจัดทำเป็นแบบเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) เพื่อความยั่งยืน ในด้านองค์ความรู้ด้านพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังและผู้สนใจได้ศึกษาต่อไป ทั้งนี้คณะศิลปศาสตร์ได้จัดทำข้อมูลประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา แปลเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศสและภาษาล้านนา เพื่อเผยแพร่ในระดับสากลในรูปแบบวีดิทัศน์ ประเพณี แห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทอง มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เริ่มจัดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2558 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ในอนาคตมหาวิทยาลัยพะเยามีการวางแผนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน โดยจะมีการผลักดันให้ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุจอมทองเป็นประเพณีหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดพะเยา เที่ยวชมความงดงามทางวัฒนธรรมพื้นถิ่นเมืองพะเยาที่สะท้อนผ่านประเพณีในเทศกาลต่าง ๆ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เชื่อมโยงถึงวิถีชีวิตความเชื่อของชาวพะเยา นับเป็นการสร้างรายได้เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สู่ความยั่งยืนทางวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยาต่อไป

นายณัฐวร วงศ์จิตราทร
รองคณบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต

 


Print Friendly and PDF

ติดตามข่าวสาร มพ.


ติดตามข่าวสารผ่าน tiktok มพ.

@uptiktok2023

แอปพลิเคชั่น Smart UP

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้


ข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ย้อนหลัง 7 วัน