ประกันภัยภาคบังคับ / ประกันภัย พ.ร.บ.
บทความกฎหมายเรื่องใกล้ตัววันนี้ขอนำเสนอเรื่อง “ประกันภัยภาคบังคับ” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” ซึ่งหมายถึง การที่เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นมีสาระสำคัญที่เจ้าของรถพึงทำความเข้าใจ เพราะหลายท่านไม่ทำประกันเพราะคิดว่ารถของตัวเองไม่ได้ต่อภาษีประจำปี เป็นรถเก่า หรือคิดว่าไม่สำคัญปล่อยให้ประกันภัยขาดไปบ้าง ผู้เขียนจึงอยากนำสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังในรูปแบบการถามต่อบ เพื่อการทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ทำไมต้องบังคับให้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ?
คำตอบ : การบังคับให้เจ้าของรถต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการประสบภัยจากรถ โดยจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ และมีเงินช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต และเป็นหลักประกันให้แก่สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาลในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิดเพราะบริษัทที่รับประกันภัยจะเข้ามาช่วยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดไว้
รถประเภทใดบ้างที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ?
คำตอบ : ตามกฎหมายกำหนดให้ “รถทุกชนิดทุกประเภ” ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร เป็นรถที่เจ้าของมีไว้ใช้ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นคนละกรณีกับการที่แม้ว่าจะมีรถบางประเภทที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็เข้าข่ายเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตามกฎหมาย เช่น รถที่มีการดัดแปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์ไม่ถูกต้องขนส่งจึงไม่ต่อทะเบียนให้ แต่ก็ต้องทำประกันภาคบังคับเช่นกัน
มีรถที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. หรือไม่ ?
คำตอบ : รถต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ ประกอบด้วย รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และรถสำหรับผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด รถของกระทรวง ทบวงกรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และส่วนราชการท้องถิ่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระขององค์กรใดๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ?
คำตอบ : ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ ได้แก่ เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ
หากไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. มีโทษตามกฎหมาย ?
คำตอบ : หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีประกันภัย พ.ร.บ. ตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)
ประกันภัย พ.ร.บ. คุ้มครองใครบ้าง ?
คำตอบ : คุ้มครอง “ผู้ประสบภัย” หมายถึง ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
ซื้อประกัน พ.ร.บ. ได้ที่ไหน ?
คำตอบ : เราสามารถซื้อประกัน พ.ร.บ.ได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ รวมถึงสาขาของบริษัทนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีสาขาให้บริการอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากบริษัทใดฝ่าฝืนไม่รับประกัน พ.ร.บ.ตามที่กฎหมายกำหนดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาท
อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. แพงไหม ?
คำตอบ : อัตราเบี้ยประกันเป็นอัตราคงที่และเป็นอัตราเดียวแยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ บริษัทประกันภัยจะไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียน ที่ 1/2551 เรื่อง การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ดังนี้
อัตราเบี้ยประกันภัยคงที่ (ไม่รวมภาษีอากร)
สำหรับการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
1.รถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์
ลำดับ | ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์ | การใช้รถยนต์ |
ส่วนบุคคล (บาท/ปี) | รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ (บาท/ปี) |
1. | รถจักรยานยนต์ | | |
| 1.1 ไม่เกิน 75 ซี.ซี. | 150 | 150 |
| 1.2 เกิน 75 ซี.ซี. ไม่เกิน 125 ซี.ซี. | 300 | 350 |
| 1.3 เกิน 125 ซี.ซี. ไม่เกิน 150 ซี.ซี. | 400 | 400 |
| 1.4 เกิน 150 ซี.ซี. | 600 | 600 |
2. | รถสามล้อเครื่อง | | |
| 2.1 ในเขต กทม. | 720 | 1,440 |
| 2.2 นอกเขต กทม. | 400 | 400 |
3. | รถสกายแลป | 400 | 400 |
4. | รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน | 600 | 1,900 |
5. | รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ขนาดที่นั่ง | | |
| 5.1 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง | 1,100 | 2,320 |
| 5.2 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง | 2,050 | 3,480 |
| 5.3 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง | 3,200 | 6,660 |
| 5.4 เกิน 40 ที่นั่ง | 3,740 | 7,520 |
| รถยนต์โดยสารหมวด 4 (วิ่งระหว่างอำเภอกับอำเภอในจังหวัด) | | |
| 5.5 ไม่เกิน 15 ที่นั่ง | - | 1,580 |
| 5.6 เกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง | - | 2,260 |
| 5.7 เกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง | - | 3,810 |
| 5.8 เกิน 40 ที่นั่ง | - | 4,630 |
6. | รถยนต์บรรทุก | | |
| 6.1 น้ำหนัก ไม่เกิน 3 ตัน | 900 | 1,760 |
| 6.2 น้ำหนัก เกิน 3 ตัน ไม่เกิน 6 ตัน | 1,220 | 1,830 |
| 6.3 น้ำหนัก เกิน 6 ตัน ไม่เกิน 12 ตัน | 1,310 | 1,980 |
| 6.4 น้ำหนัก เกิน 12 ตัน | 1,700 | 2,530 |
7. | รถยนต์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส หรือกรดขนานน้ำหนักรวม | | |
| 7.1 ไม่เกิน 12 ตัน | 1,680 | 1,980 |
| 7.2 เกิน 12 ตัน | 2,320 | 3,060 |
8. | หัวรถลากจูง | 2,370 | 3,160 |
9. | รถพ่วง | 600 | 600 |
10. | รถยนต์ป้ายแดง(การค้ารถยนต์) | | |
11. | รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร | | |
12. | รถยนต์ประเภทอื่นๆ | | |
2.รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
ลำดับ | ประเภทรถและขนาดเครื่องยนต์ | การใช้รถยนต์ |
ส่วนบุคคล (บาท/ปี) | รับจ้าง/ให้เช่า/สาธารณะ (บาท/ปี) |
1. | รถจักรยานยนต์ | 300 | 350 |
2. | รถสามล้อ | 500 | 1,440 |
3. | รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน | 600 | 1,900 |
หมายเหตุ :
1. รถที่จดทะเบียนในต่างประเทศและนำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว อัตราเบี้ยประกันภัยให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้น หรือไม่เต็มปีตามพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ พ.ศ. 2548
2. ให้นำอัตราเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลแยกตาม ซี. ซี. มาใช้กับรถจักรยานยนต์สามล้อดัดแปลงสำหรับคนพิการโดยอนุโลม