เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานหม้อไอน้ำ (Boiler)” ภายใต้โครงการ “การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบกลั่นสุราชุมชนด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรมตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ วิสาหกิจชุมชนกำนันเดชสุรากลั่น ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการใช้งานหม้อไอน้ำแก่วิสาหกิจชุมชน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอราวิล ถาวร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อรุณ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นวิทยากร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิศักดิ์ วิทยาประภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการวิศวกรรม และคณะนักวิจัย ร่วมลงพื้นที่ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการใช้งานหม้อไอน้ำกับวิสาหกิจชุมชนดำนันเดชสุรากลั่น (คีรีขาล) ทั้งนี้ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อ
- ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้งานและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำอย่างถูกต้อง
- ฝึกปฏิบัติจริงเพื่อเพิ่มทักษะการใช้งานอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรคณะฯ ในการพัฒนาและให้บริการวิชาการแก่ชุมชน
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสุราแล้ว โครงการยังมีแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Space)” สำหรับการผลิตสุรากลั่นที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและต่อยอดสู่ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ประจำจังหวัดพะเยาในอนาคต
คณะวิศวกรรมศาสตร์มีแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนกำนันเดชสุรากลั่นแห่งนี้ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Learning Space for Lifelong Learning with SDGs)” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับการผลิตสุรากลั่นที่ถูกกฎหมาย มีความปลอดภัย และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ประจำจังหวัดพะเยา โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้าง หน่วยงานที่สนใจ หรือภาคการศึกษาเข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมพัฒนาศักยภาพร่วมกัน โครงการนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการนำศาสตร์วิศวกรรมมาใช้พัฒนาท้องถิ่นอย่างมีเป้าหมายและยั่งยืน ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเป็น “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเป้าหมายหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- SDG 7: Affordable and Clean Energy ซึ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (SDG หลัก)
- SDG 4: Quality Education ที่เน้นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG รอง)