
รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี เข้าร่วมนำเสนอการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดตาก เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม ในโอกาสนี้ คณะอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ University Social Responsibility (USR Project) จาก มหาวิทยาลัยหนานฮัว ไต้หวัน ให้คำปรึกษาพื้นที่ต้นแบบ “เมืองแห่งการเรียนรู้” ณ เทศบาลเมืองลำพูน และเทศบาลเมืองตาก
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยจัดการเมือง (City Unit) แลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน พร้อมหารือแนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ เมื่อระหว่างวันที่ 15–16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ คณะครู และนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลประตูลี้ ได้ร่วมต้อนรับและนำเสนอการดำเนินงานหลักสูตรบูรณาการ “PISELF Model” ซึ่งเน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (โดยเฉพาะทักษะ Phonics) คณิตศาสตร์ และองค์ความรู้ท้องถิ่น นักเรียนสามารถนำเสนอเนื้อหาภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โดยได้รับคำชื่นชมจากคณะอาจารย์ชาวไต้หวัน พร้อมข้อเสนอแนะในการเชื่อมโยงหลักสูตรกับแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ณ เทศบาลเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
นายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก พร้อมด้วยเจ้าอาวาสวัดดอนแก้ว คณะครู และนักเรียนจากหลายกลุ่ม ได้จัดกิจกรรมภายใต้ 5 หลักสูตรที่ผสานเรื่องราวของ พระเจ้าตากสินมหาราช เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น โดยมี “Little Guide” ถ่ายทอดประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นภาษาอังกฤษอย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตร และได้รับคำแนะนำจากคณะอาจารย์ไต้หวัน โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายพื้นที่การเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ณ เทศบาลเมืองตาก จังหวัดตาก

คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหนานฮัวไต้หวัน ได้แสดงความชื่นชมในความพยายามของเทศบาลทั้งสองแห่ง พร้อมแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในอนาคตร่วมกับประเทศไทย และมีแนวโน้มในการจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนข้ามวัฒนธรรมในอนาคต

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา กสศ. และหน่วยจัดการเมือง จะนำข้อเสนอแนะและผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ลำพูนและตาก เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มต่อไป