คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับมูลนิธิฮันส์ไซเดล ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการปกครองท้องถิ่นเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ” (Capacity Building on Local Governance for Gender Equality) ระหว่างวันที่ 12–13 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรม M2 Waterside จังหวัดพะเยา โดยมีผู้นำท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วม รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรา พงษ์นิล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยาณัญ มณีวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาองค์กร เป็นผู้แทนในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนหน่วยงานราชการโครงการในครั้งนี้
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในประเด็น “ความเท่าเทียมทางเพศ” และพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติให้แก่ผู้นำท้องถิ่นในการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเนื้อหาการอบรมครอบคลุมตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ การออกแบบโครงการ ไปจนถึงการประเมินผลนโยบายและกิจกรรม โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติจริง ในพิธีเปิดโครงการ ได้รับเกียรติจาก Mr. Christian Wiese ตัวแทนผู้อำนวยการมูลนิธิฮันส์ไซเดล ประเทศไทย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
กิจกรรมเด่นภายในโครงการ ได้แก่
- การบรรยายเรื่อง “มองเห็นเพศสภาพในการจัดการปกครองท้องถิ่น”
- เวิร์กชอป “เขียนโครงการเพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ”
- การนำเสนอไอเดียในหัวข้อ “7-Minute Pitch for Change: 7 นาทีเปลี่ยนท้องถิ่นสู่ความเท่าเทียม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดารารัตน์ คำเป็ง ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า “เราต้องการเสริมสร้างความเข้าใจในมิติเพศสภาพให้กับผู้นำในระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายและโครงการที่ครอบคลุม เป็นธรรม และตอบโจทย์ทุกกลุ่มในชุมชนได้อย่างแท้จริง” โครงการนี้สอดคล้องกับพันธกิจของคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่มุ่งผลิต “รัฐพัฒน์นวัตกรเพื่อชุมชน” และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 : ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บรรยากาศตลอดกิจกรรมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นกันเอง และเปี่ยมด้วยพลังความร่วมมือ ผู้เข้าร่วมแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดสู่การเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ในระดับพื้นที่