
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ MIT Sloan School of Management ร่วมมือกันพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยโดยประยุกต์ใช้วิทยาการระบบ (Systems Science) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือครั้งนี้ได้กำหนดการลงพื้นที่จังหวัดพะเยาในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำตำบลแม่นาเรือ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เพื่อนำเสนอแนวทางการเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (National Hydroinformatics Data Center: NHC) รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้วิทยาการระบบและ AI ในการบริหารจัดการน้ำ
สสน. เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยพะเยาในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรมในระดับประเทศ และการเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลด้านงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง จึงได้เชิญบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมการประชุมหารือและลงพื้นที่ในครั้งนี้ จำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิศักดิ์ ปิ่นมงคลกุล (คณบดี), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยชนน์ เกษสุวรรณ (รองคณบดีฝ่ายวิชาการ), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เริงฤทัย ศิริรักษ์ (รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม), ดร. ธีรพงษ์ หล้าอินเชื้อ และ ดร. ศิริวรรณ อินทวิชัย (อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์)
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ยังได้ร่วมหารือกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ ในการต่อยอดโครงการ 1 คณะ 1 SDGs ที่บ้านโซ้ ต.แม่นาเรือ โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามแนวทาง Zero Waste โดยนำเทคโนโลยีไพโรไรซิสมาประยุกต์ใช้กับเตาเผาชีวมวลไร้ควันขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อผลิตน้ำมันจากขยะถุงพลาสติกสำหรับใช้ในเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และวิสัยทัศน์ของคณบดี ในการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำ เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยจากพื้นที่ และนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน